MGRออนไลน์ -- สื่อทางการเวียดนามได้เผยแพร่ภาพเรือดำน้ำ 5 ลำ ที่จอดเรียงรายพร้อมหน้ากันปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ฐานทัพเรืออ่าวกามแรง (Cam Ranh) ในภาคกลางของประเทศ และ กลายเป็นภาพแรกที่โลกภายนอกได้เห็นผลงานความพยายาม ในการสร้างกองเรือรบใต้น้ำโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี และ เงินงบประมาณในการจัดซื้อที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา และ มีคำชมว่าสมน้ำสมเนื้อในเรื่องราคาค่างวด
ภาพดังกล่าวปรากฎออกมาหลังจาก วิศวกรกับเจ้าหน้าที่เทคนิคชาวรัสเซียและเวียดนาม ร่วมกันนำเรือดำน้ำนครด่าหนัง หมายเลข 186 (Danang 186) ลงจากเรือโรลด็อกสตาร์ (Rolldock Star) เรือขนส่งขนาดใหญ่สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเล นำเรือดำน้ำลำล่าสุด จากเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองท่าใหญ่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือรัสเซีย ข้ามน้ำข้ามทะเลเกือบ 3 หมื่นกิโลเมตร ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน
ยังขาดอีกเพียง 1 ลำเท่านั้น คือเรือ 187 บ่าเหรียะ-หวุงเต่า (187 Baria-Vung Tau) ซึ่งสื่อของทางการรัสเซียรายงานสัปดาห์ที่แล้วว่า จะส่งให้เวียดนามในเดือน ต.ค.ปีนี้ จะทำให้กองพลสงครามใต้น้ำแห่งแรก คือ กองพลน้อยเรือดำน้ำ 189 ซึ่งตั้งอยู่ที่อ่าวแห่งนี้ มีสมาชิกครบสมบูรณ์เต็มอัตรา
แรกเริ่มเดิมทีเรือที่ใช้ชื่อ "นครด่าหนัง" จะเป็นลำที่ 4 แต่แล้ว ได้มีการหลีกทางให้ชื่อ "นครแค้งหว่า" (Khanh Hoa City) เลื่อนอันดับขึ้นไปแทน ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัด อันเป็นที่ตั้งของอ่าวกับฐานทัพเรือใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้เรือนครด่าหนังเลื่อนมาเป็นอันดับที่ 5
ปลายปีที่แล้วกองทัพเรือเวียดนามได้เปลี่ยนระบบการตั้งชื่อเรือใหม่ โดยไม่ใช้อักษรย่อ HQ (Hai Quan=กองเรือ) นำหน้าหมายเลขประจำเรืออีกต่อไป
เรือ 186 เดินทางถึงอ่าวกามแรงตอนค่ำวันที่ 2 ก.พ. และ ในวันที่ 3-4 เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเตรียมการ เพื่อนำลงจากเรือขนส่งยักษ์ ในที่สุดตอนเช้าวันศุกร์ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา เรือโรลด็อคสตาร์ก็ได้จมลงส่วนหนึ่ง เพื่อปล่อยให้เรือ 186 "ลอยน้ำ" และ เรือลากจูง ลากออกไปยังบริเวณที่จะเป็นบ้านหลังใหม่
เรือถูกนำเข้าสู่บริเวณฐานทัพ ในส่วนที่ตั้งกองพลน้อยเรือดำน้ำ 189 ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้เกิดภาพอันงดงาม เรือดำน้ำทั้ง 5 ลำจอดเรียงรายกัน ปรากฎต่อสายตาชาวโลก เรือลำพี่ที่ได้รับมอบก่อนหน้านั้น คือ เรือนครฮานอย นครโฮมินห์ นครหายฝ่อง และ นครแค้งหว่า ซึ่งได้ผ่านพิธีขึ้นระวางประจำการทั้งหมดแล้ว
หมายความว่า เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำอยู่ในสภาพพร้อมรบ 24 ชั่วโมง
ตามรายงานของเดิ๊ตเหวียด (ชาติเวียดนาม) ออนไลน์ พิธีรับมอบเรือ 186 อย่างเป็นทางการ จะจัดขึ้นหลังเทศกาลตรุษนี้ แต่จะยังไม่มีพิธีนำเข้าประจำการ โดยคาดว่าจะทำพร้อมๆ กับเรือบ่าเหรียะ-หวุงเต่า ที่จะไปถึงในปลายปี
ทั้งหมดเป็นเรือดำน้ำพลังงานดีเซล/มอเตอร์ไฟฟ้าชั้นคิโล (Kilo-Class) ที่ต่อขึ้นตามโครงการ 636.1 (Project 636.1) หรือ "วาร์ชาฟยันกา" (Vashavyanka) เป็นเรือที่กลุ่มนาโต้ตั้งฉายาว่า "หลุมดำในมหาสมุทร" เนื่องจากความเงียบของเรือชั้่นนี้ และ ไล่ตรวจจับได้ยาก
.
2
เรือดำน้ำเป็นกำลังสำคัญในการ "ป้องปราม" การข่มขู่ หรือ การก้าวร้าวรุกรานของฝ่ายที่เป็นอริ เป็นที่ทราบกันดีว่า เรือชั้นคิโลสามารถติดจรวด (อาวุธปล่อย/missile) นำวิถี ได้หลากหลายรุ่นและชนิด รวมทั้งจรวดรุ่นหนึ่งที่สามารถยิงทำลายเป้าหมายบนพื้นทวีปได้
ตามข้อมูลของแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรม จรวดร่อนโจมตีภาคพื้นดินของเรือดำน้ำเวียดนาม เป็นรุ่นสำหรับโจมตีในระยะสั้นเพียงประมาณ 300-400 กม. ต่างไปจากรุ่นที่เรือรอสตอฟ-ออน-ดอน (Rostov-On-Don) ซึ่งเป็นเรือชั้นคิโลรุ่นเดียวกัน ของกองทัพเรือรัสเซีย ใช้ยิงจากทะเลเมดิเตอร์เนียน ไปโจมตีเป้าหมายกลุ่มรัฐอิสลามในดินแดนซีเรียปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นรุ่นที่ยิงได้ไกลถึง 2,500 กม.
แหล่งข่าวอุตสาหกรรมกลาโหมในรัสเซียเคยอธิบายว่า การมีจรวดร่อนยิงไกลนับพันกิโลเมตร แบบเดียวกับที่ติดตั้งบนเรือดำน้ำรัสเซียนั้น "มิใช่เป้าหมายของเวียดนาม" ที่ตั้งกองเรือสงครามใต้น้ขึ้นมา ำเพื่อป้องกันตนเอง การมีอาวุธยิงระยะไกลขนาดนั้น จะกลายเป็น "อาวุธโจมตี" (เพื่อการรุกราน) ไม่ใช่ "อาวุธป้องกัน" แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมิได้หมายความว่าจะมีไม่ได้ในยามที่ต้องการ เพราะมีเรือที่มีขีดความสามารถที่จะใช้พร้อมอยู่แล้ว
เวียดนามใช้เวลาเพียง 7 ปี ในการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเรือดำน้ำเบอร์ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่พูดคุยกันมากในเว็บไซต์ เว็บบล็อกข่าวกลาโหมหลายแห่ง
นักวิเคราะห์ทางการทหารหลายคนกล่าวว่า การพัฒนากองกำลังรบใต้น้ำของเวียดนาม แสดงให้เห็นความตั้งใจจริง กับการจัดอันดับความเร่งด่วนทางยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศอันถูกต้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายปีมานี้กระทรวงกลาโหม ทุ่มเทให้กับการป้องกันทางทะเล หรือ แม้แต่เครื่องบินรบแบบ Su-30 ที่สั่งซื้อกว่า 30 ลำ ก็มีจำนวนครึ่งต่อครึ่ง ที่สั่งทำคอนฟิกูเรชั่นพิเศษ เน้นการสู้รบทางทะเล เช่น ติดระบบเอวิโอนิกส์ ระบบเรดาร์ตรวจไกลทางอากาศ เพื่อใช้ภายใต้สภาพแวดล้อมในทะเล ฯลฯ
หลายปีมานี้เวียดนามยังสั่งซื้อเรือเกพาร์ด 3.9 (Gephard 3.9) ซึ่งเป็นเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถี แบบเดียวกับที่ประจำการในกองทัพเรือรัสเซียจำนวน 4 ลำ และ ยังต่อเรือเร็วติดอาวุธปล่อยนำวิถีภายใต้สิทธิบัตรจากรัสเซียอีกหลายลำ นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถี สำหรับยิงเรืออีกรุ่นหนึ่งภายใต้สิทธิบัตรเช่นเดียวกัน
ปลายปีที่แล้ว เรือเกพาร์ด 3.9 ของกองทัพเรือรัสเซียลำหนึ่งในทะเลแคสเปียน ได้ร่วมยิงจรวดร่อนนำวิถีระยะไกล ผ่านดินแดนอิรักและอิหร่าน ไปโจมตีเป้าหมายในซีเรีย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัสเซียโชว์ขีดความสามารถ ทางเทคโนโลยีจรวดร่อน ให้โลกได้เป็นประจักษ์
2
3
4
5
6
7
การจัดหาเรือดำน้ำชั้นคิโลทั้ง 6 ลำของเวียดนาม เริ่มขึ้นในปี 2552 และ ปลายปีนั้นนายกรัฐมนตรีเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ไปเยือนรัสเซีย ต่อมามีข่าวกระฉ่อนผ่านสื่อเจ้าของประเทศว่า มีการเซ็นสัญญาซื้อเรือชั้นคิโลจำนวน 6 ลำ มูลค่าราว 2,000 ล้านดอลลาร์ เกือบสองปีต่อมาคือในเดือน ส.ค.2554 รัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ฝุ่งกวางแทง (Phung Quang Thanh) จึงออกยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ลำอาจจะยังไม่ใช่ทั้งหมด เริ่มมีข่าวออกมาหนาหูอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายปี 2558 เวียดนามอาจจะต้องซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 4-6 ลำ และ คราวนี้มีทีท่าว่าจะเป็นเรือของโลกตะวันตก แทนที่จะเป็นเรือรัสเซียเช่น 6 ลำแรก
เหตุผลที่สามารถอธิบายได้ก็คือ ไม่ช้าไม่นานมานี้ รัสเซียประกาศปิดโครงการวาร์ชาฟยันกาแล้ว คือ ไม่มีการต่อเรือภายใต้โครงการ 636.1 อีกต่อไป เมื่อปีที่แล้วเช่นกันรัสเซีย ได้ปิดประตูโครงการต่อเรือดำน้ำชั้นลาดา (Lada-Class) ซึ่งจะเป็นเรือรุ่นใหม่ล่าสุด แทนที่เรือชั้นคิโล เนื่องจากรัสเซียจะต้องทุ่มเทงบประมาณ ให้แก่การต่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ที่กองทัพมีความต้องการมากกว่า
สื่อของทางการเวียดนามนำเสนอข่าวมาหลายครั้ง เกี่ยวกับคณะผู้แทนกระทรวงกลาโหม เดินทางไปร่วมงานแสดงอาวุธทางเรือในประเทศต่างๆ ทั่วโลก บางสำนักรายงานถึงขนาดว่า คณะจากเวียดนามได้เข้าเจรจากับกลุ่ม DCNS แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเรือดำน้ำชั้่นสกอร์ปีน (Scorpene) หลากหลายรุ่น รวมทั้งรุ่นหนึ่งที่ประจำการ ในราชนาวีมาเลเซียปัจจุบันด้วย
เวียดนามได้แสดงให้เห็นความพยายามมาหลายครั้ง ในการลดการพึ่งพาอาวุธรัสเซียเพียงแหล่งเดียว หลังจากรัสเซียขายอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งให้แก่จีน ที่เป็นคูอริในทะเลจีนใต้ ความพยายามของเวียดนามชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อสั่งซื้อเรือฟรีเกตรุ่นหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์จำนวน 2 ลำ และ ต่อมาได้เซ็นสัญญาซื้อจรวดเอ็กโซเซ และ ระบบจรวดต่อสู้อากาศยาน ที่ผลิตในฝรั่งเศส
จะไม่แปลกอะไรถ้าวันหนึ่ง เรือรบรุ่นใหม่ของกองทัพเรือเวียดนามจะติดจรวดเอ็กโซเซ.