xs
xsm
sm
md
lg

ลาวเข็ดแล้วไม่อนุญาตนักลงทุนจีนปลูกกล้วยอีก ใช้สารเคมีพิษมากมายบางชนิดเลิกใช้ทั้งโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของชาวลาว .. ลาวเริ่มไหวตัว การให้นักลงทุนจีนเช่าใช้ที่ดินทำสวนกล้วย มากมายนั้นไม่คุ้ม จ้างงานระยะสั้น ไม่มั่นคง ทำงานท่ามกลางอันตรายจากสารเคมีหลากชนิด สร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อม เจ้าแขวงบ่อแก้ว เขตสวนกล้วยใหญ่ที่สุดของจีน ไม่ออกใบอนุญาตขยายเนื้อที่เพาะปลูกอีกแล้ว ที่มีอยู่กว่า 62,500 ไร่ในปัจจุบัน จะเริ่มตรวจตราอย่างใกล้ชิด.  </b>

MGRออนไลน์ -- ทางการแขวงบ่อแก้วของลาว ประกาศไม่ออกใบอนุญาตให้นักลงทุนจากจีน เข้าเช่าที่ดินทำไร่กล้วยหอมอีก โดยยอมรับว่าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ลาวเองหละหลวม ไม่ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้มีการนำเข้า และใช้สารเคมีที่มีพิษต่อสุขภาพร่างกายของผู้คนเป็นจำนวนมาก บางชนิดที่ชาวจีนนำไปใช้ ถูกยกเลิกใช้กันแล้วทั่วโลก

ทางการจะไม่อนุญาตให้มีการขยายเนื้อที่ปลูกกล้วยเพิ่มเติมอีก และ สวนกล้วยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจตราอย่างเข้มงวด สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานอ้าง นายคำพัน เผยยะวง เจ้าแขวง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งเป็นเสมือน "สวนกล้วยหอม" ของนักลงทุนจากจีน เนื่องจากมีเนื้อที่ปลูกรวมกันท้้งหมดกว่า 10,000 เฮกตาร์ หรือ กว่า 62,500 ไร่

บ่อแก้วทั้งแขวงได้กลายเป็นปลายทางยอดนิยม ในการปลูกกล้วยหอมเพื่อส่งไปจำหน่ายในหลายเมืองและมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไปจนถึงบางมณฑลทางใต้และในภาคกลาง ทั้งนี้เนื่องจากบ่อแก้วมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก อยู่ริมแม่น้ำโขง มีเขตแดนติด อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นต้นทางของทางหลวงสายเอเชีย A3E เชื่อมไทย ลาว และจีน ระยะทางสั้นที่สุดและทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

"เนื่องจากสภาพการลงทุนปลูกกล้วยของนักลงทุนต่างประเทศในแขวงบ่อแก้ว ในระยะที่ผ่านมาได้มีปัญหา โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งยาฆ่าหญ้าและยาปราบศัตรูพืช ที่ไม่ได้รับการตรวจตราและคุ้มครองจากภาครัฐ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทางเจ้าแขวงจึงได้มีคำสั่งยุติกิจกรรมปลูกกล้วย โดยไม่อนุญาตให้มีการขยายเนื้อที่ปลูกกล้วยเพิ่มเติมอีก..." สำนักข่าวของทางการกล่าว

การที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ตรวจตราใกล้ชิดทั่วถึง ทำให้สวนกล้วยสร้างปัญหา .. "ทำให้มีการนำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรง และ ที่สำคัญเป็นเคมีที่ทั่วโลกไม่ใช้กันแล้ว แต่นักลงทุนก็ยังคงลักลอบนำเข้ามาใช้.." เป็นอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

เจ้าแขวงบ่อแก้วกล่าวอีกว่า การอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศปลูกกล้วยในช่วงที่ผ่านมา เกิดประโยชน์ด้านการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง เช่น รายได้จากการสัมปทาน (เช่า) ที่ดิน ทำให้คนในชุมชนมีงานทำ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นรายรับที่ไม่มั่นคง การใช้แรงงานมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพจากสารเคมีอันตราย และ ยังทำให้ดินมีสภาพเสื่อมโทรมเร็วอีกด้วย

ไม่กีปีมานี้มีการขยายการปลูกกล้วยอย่างกว้างขวาง ในแขวงภาคตะวันตกเฉียงเหนือแห่งนี้ สื่อของทางการรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า นักลงทุนจีนจำนวนมากใช้วิธีเช่าที่ดินเพื่อปลูกกล้วยในระยะสั้น และ ย้ายที่ปลูกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีภาระจัดเก็บต้นตอที่ตัดทิ้ง ทำให้เกิดเน่าเสีย และ เมื่อผ่านพ้นฤดูปลูกกล้วย ที่ดินจะใช้การไม่ได้อีกเป็นเวลานาน หรือ มีต้นทุนการกำจัดที่สูงมาก

ในระยะหลัง นักลงทุนยังจ้างแรงงานชาวลาวน้อยลง หลังจากนำวิธีการตัดและขนส่งกล้วยดิบจากสวนที่ทันสมัยมาใช้

ไม่เพียงแต่ในลาว ที่มีปัญหากับสวนกล้วยของนักลงทุนจากจีน เขตที่ราบปากแม่น้ำโขงก็เป็นแหล่งดินอุดมอีกแห่งหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากขนส่งทางเรือสะดวก และ ในปัจจุบันมีสวยกล้วยนับหมื่นไร่ พร้อมกับปัญหามลพิษจากสารเคมี ที่ใช้เร่งใบเร่งการเจริญเติบโต สารเคมีอีกบางชนิดใช้เพิ่มขนาดผลกล้วย บางชนิดใช้ฉีดพ่น เพื่อเพิ่มสีสันให้น่ารับประทานภายหลังการตัดหวี

ซเวินเหวียดออนไลน์รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า สวนกล้วยของชาวจีนใน จ.เหิ่วซาง (Hau Giang) ในเขตปากแม่น้ำโขงกำลังสร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อมอย่างหนัก เนื่องจากใช้สารเคมีที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ใช้ปริมาณมาก และ ปราศจากการควบคุม.
กำลังโหลดความคิดเห็น