MGRออนไลน์ -- ทางการลาวยืนยันโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ที่กำลังก่อสร้างกั้นทางน้ำไหลในแม่น้ำโขง ทางตอนใต้สุดของประเทศ ดำเนินไปอย่างโปร่งใส อิงมาตรฐานสากล มีการสำรวจศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ชัดเจน เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม หากฝ่ายใดสงสัยข้องใจ สามารถไปเยี่ยมชมได้ทุกเวลา
นายวีละพัน วีละวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่างให้การต้อนรับการไปเยี่ยมชมโครงการ โดยนายแดเนียล คลูน เอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำลาว 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากฝ่ายลาว รวมทั้งนายบุนถอง ดีวิไซ เจ้าแขวงจำปาสักด้วย
นับตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา บริษัทเจ้าของสัมปทานกำลังก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ที่มีกำลังปั่นไป 260 เมกะวัตต์ กั้น "ฮูสะโฮง" ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาทางน้ำไหลขนาดใหญ่ 4-5 แห่งในเขตนทีสี่พันดอน เมือง (อำเภอ) โขง แขวงจำปาสัก ซึ่งเป็นตอนใต้สุดของแม่น้ำ ช่วงที่ไหลผ่านดินแดนลาว และ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ถูกต่อต้านจากองค์กรภาคเอกชนไม่สังกัดรัฐบาล รวมทั้งองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ อย่างแข็งขัน
นอกจากนั้นก็ยังเคยเป็นประเด็นความเห็นต่าง ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ ที่นำโดยเวียดนามกับกัมพูชา ซึ่งเกรงว่าการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงจะทำให้ดินแดนที่อยู่ใต้ลงไปขาดน้ำ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลายสิบล้านคน
แต่รัฐมนตรีลาวกล่าวว่า โครงการดอนสะโฮงผ่านการศึกษาผลกระทบด้านต่างมาเป็นเวลา 2-3 ปี ดำเนินทุกขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ ในสนธิสัญญาแม่น้ำโขงระหว่างประเทศปี พ.ศ.2538 และ เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีนี้ "รัฐบาลลาวจะสืบต่อพัฒนาโครงการต่อไปอย่างโปร่งใส อนุญาตให้ทั่วทั้งสังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศ ลงติดตามการพัฒนาตัวจริงในสนามได้อย่างกว้างขวาง.." สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
ลาวยืนยันว่าดอนสะโฮงเป็นหนึ่งโครงการพัฒนาในทิศทางที่ยั่งยืน เพื่อเข้าร่วมส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ โดยใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมในการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิผลสูง มีราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม
การพัฒนาโครงการนี้ "ไม่ทำลายโอกาสในการใช้จากทรัพยากรพลังงานในอนาคต โดยมีการคำนึงถึงผลที่ได้รับ และผลเสียหายทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด เพื่อนำเอาผลประโยชน์ที่ได้รับ ไปประกอบส่วนเช้าในการพัฒนาประเทศ ให้หลุดพ้นจากสถานภาพด้อยพัฒนา.." สำนักข่าวของทางการรายงานอ้าง ดร.วีละพัน
รัฐมนตรีลาวกล่าวอีกว่า รัฐบาลยืนยันจะใช้รูปแบบการพัฒนาที่เปิดกว้างและโปร่งใสของโครงการเขือนไซยะบูลีและดอนสะโฮง ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำต่อไป ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่น้อยที่กั้นลำน้ำโขง และลำน้ำสาขา ทั้งนี้เพื่อให้บรรดาประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ปราศจากความเป็นกังวล และสบายใจได้ว่าการพัฒนาจะไม่ส่งผลกระทบข้ามชายแดน
.
2
โครงการเขื่อนในลาว จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำ การไหลของน้ำ ดินตะกอน การขึ้นลงของฝูงปลา ความปลอดภัยของเขื่อน และ อื่นๆ ตลอดระยะเวลาก่อสร้างและในช่วงต่อๆ ไปข้างหน้า และ จะไม่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศสมาชิกที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างเด็ดขาด รัฐมนตรีลาวกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางการลาวจะสืบต่อการปรึกษาหารือ ทั้งรับฟังความเห็นจากบรรดาประเทศสมาชิก ประเทศอื่นๆ หรือองค์การระหว่างประเทศต่อไปตามปรกติ
โครงการดอนสะโฮงถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มบริษัทเมกะเฟิร์สจากประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเริ่มปั่นไฟได้ในปี 2562 ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ย 2,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ภายใต้อายุสัมปทาน 25 ปี
ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ จนถึงสิ้นปี 2558 ทั่วลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้วรวม 38 เขื่อน (รวมทั้งบางโครงการที่ผลิตไฟฟ้าได้เป็นบางส่วน) จากทั้งหมดกว่า 60 โครงการที่เซ็นสัญญาแล้ว รวมทั้งประมาณ 10 โครงการที่ก่อสร้างกั้นลำน้ำโขงทั้งสาย
กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ได้ออกแสดงความห่วงใยต่อการสร้างเขื่อนจำนวนมากมาย ในประเทศที่มีประชากรเพียงประมาณ 6 ล้านคน และ ชี้ให้เห็นว่าการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ในมณฑลหยุนหนันของจีนทำให้เกิดภัยแห่งแล้งติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี
แต่นักวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญของลาวกล่าว น้ำในแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านดินแดนลาวนั้่น พึ่งพาน้ำจากลำน้ำโขงตอนบนเพียงน้อยนิด น้ำส่วนใหญ่ไปจากลำน้ำสาขาต่างๆ ที่เกิดจากเขตป่าต้นน้ำอันสมบูรณ์ในดินแดนลาวทั้งสิ้น.