ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการลาวประกาศ จะลงมือก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ หลังจากล่าช้ามานานหลายปี ท่ามกลางการต่อต้านจากบรรดานักอนุรักษ์สภาพแวดล้อม กับเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใต้ลงไป เขื่อนกำลังจะสร้างขึ้นกั้นทางน้ำไหลสายหนึ่ง ในระบบแม่น้ำโขงอันสลับซับซ้อนทางตอนใต้สุดของประเทศ หลังจากผ่านการศึกษาผลกระทบมาเจนจบ จนมั่นใจได้ว่าโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการอพยพของฝูงปลาในแม่น้ำโขง
รัฐบาลลาวเซ็นความตกลงให้นักลงทุนจากมาเลเซีย พัฒนาโครงการเชื่อนฮูสะโฮงตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 จากนั้นได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และ ศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และผลกระทบทางสังคม ท่ามกลางการตัดค้านจากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติของเอกชนหลายแห่ง ทางการเวียดนามและกัมพูชาได้เข้าสมทบเรียกร้องให้ลาว ยุติการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทุกโครงการ เอาไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน จนน่าพอใจก่อน
เจ้าหน้าที่โครงการกล่าวว่า หลายปีมานี้ได้มีการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และ สังคม จัดทำบทวิพากษ์ทางเศรษฐกิจ ตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้อง และ "ฮูสะโฮง" ที่จะสร้างเขื่อนฝายน้ำล้นกั้น มีน้ำไหลผ่านคิดเป็นเพียงประมาณ 5% ของระบบแม่น้ำโขง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงใดๆ และ ไม่เป็นอุปสรรแก่การอพยพของฝูงปลาอีกด้วย
ฮูสะโฮงเป็นทางน้ำไหลขนาดใหญ่ 1 ใน 3-4 สาย ในเขตนทีสี่พันดอน เมือง (อำเภอ) โขง แขวง (จังหวัด) จำปาสัก โครงการฮูสะโฮง มีมูลค่าราว 723.1 ล้านดอลลาร์ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ ถือหุ้นใหญ่ 80% โดยกลุ่มเมกะเฟิร์สจากมาเลเซีย รัฐบาลลาวถืออีก 20% ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะสนองความต้องการของประชาชนในแขวงภาคใต้ และ ส่งจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งกัมพูชาด้วย
นายบุนเพ็ง ดวงมาลา ผู้ประสานงานทางด้านสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการคืบหน้าไปหลายด้าน การก่อสร้างสะพานแห่งหนึ่งจากฝั่งเมืองเวินคาม ไปยังดอนสะดำแล้วเสร็จ รวมทั้งการก่อสร้างท่าเรือที่เวินคาม กับอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณปลายดอนสะโฮง มีราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเพียง 14 ครอบครัว จำนวน 89 คน จาก 3 หมู่บ้าน และ อยู่ระหว่างการอพยพ ไปตั้งหลักแหล่ง กำลังมีการก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษา ศาลาอนามัย และตลาดบนดอนสะดำ ที่อยู่ติดกัน
.
.
ปัจจุบันบริษัทที่รับผิดชอบเตรียมการ ขนวัสดุอปุกรณ์ต่างๆ เข้าไปยังไซต์งาน การก่อสร้างจะเริ่มทันทีในปลายเดือน ต.ค.นี้ เพื่อให้แล้วเสร็จในปลายปี 2562 หนังสือพิมพ์ปะเทดลาวรายงาน
ในเดือน พ.ย.2556 ทางการลาวได้นำคณะสื่อมมวลชนทั้งจากลาว และจากประเทศเพื่อนบ้าน ไปยังพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เพื่อให้เห็นสภาพที่เป็นจริง ลาวกล่าวว่าเขื่อนแห่งนี้ ไม่ได้สร้างกั้นทางน้ำไหลสายหลักของแม่น้ำโขง จึงไม่ได้เข้าเกณฑ์ที่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงนานาชาติ
ฮูสะโฮงไม่ใช่ทางน้ำไหลใหญ่ที่สุดในขตสี่พันดอน ตามที่ฝ่ายต่อต้านให้ข้อมูลผิดๆ ก่อนหน้านั้น จึงไม่ได้ขวางกั้นเส้นทางอพยพของฝูงปลาในแม่น้ำ นอกจากนั้นฝูงปลาสามารถอพยพขึ้นลงตามทางน้ำไหลอีกหลายสายในเขตสี่พันดอน สื่อของทางการกล่าว
นายวีละพัน วีละวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวว่าทางน้ำไหลสายหลักในแม่น้ำโขงช่วงนั้น เป็นบริเวณหลี่ผี ที่มีน้ำไหลผ่านราว 60% ของทั้งหมด รองลงไปเป็นบริเวณคอนพะเพ็งอีกราว 30% ซึ่งลาวมองว่า เขื่อนดอนสะโฮงไม่ได้สร้างกั้นทางน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง จึงไม่ผิดข้อตกลงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงนานาชาติปี 2538 ที่จะต้องหารือก่อน
ผู้บริหารของบริษัทเมะเฟิร์สเปิดเผยในช่วงเดียวกันว่า บริษัทได้ดำเนินการขุดลอกฮูสะดำ ซึ่งเป็นทางน้ำไหลสายหนึ่งที่อยู่ถัดจากฮูสะโฮงไปทางทิศตะวันออก ทำให้ลึกเพิ่มขึ้นอีก 0.5 เมตร นอกจากนั้นก็ยังมีแผนการขุดเอาโขดหิน และ แก่งออกจากฮูช้างเผือก ที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทางน้ำไหลที่ใหญ่กว่าฮูสะโฮง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การแพร่พันธุ์ของปลาในแม่น้ำ.
.
2
3