xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านริมโขงเศร้า ศาลปกครองยกฟ้องคดีให้ยกเลิกซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี เล็งยื่นอุทธรณ์ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนชาวบ้าน 8 จังหวัดริมโขง แถลงข่าวหลังศาลปกครองยกฟ้อง คดีขอให้ยกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการเขื่อนไซยะบุรี
ชาวบ้าน 8 จังหวัดริมโขงเศร้า เล็งยื่นอุทธณ์หลังศาลปกครองยกฟ้องคดีขอยกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี ชี้หน่วยงานรัฐไม่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ เหตุเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์เต็มที่ทั้งข้อมูลฝ่ายไทย-สปป.ลาว ซ้ำเป็นโครงการที่ไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์กระทบสิ่งแวดล้อม

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว และพวกรวม 37 คน ซึ่งเป็นประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 กรณีขอให้มีคำพิพากษายกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มติของรัฐบาล รวมทั้งแจ้งข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นอย่างพอเพียง เหมาะสม และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมทั้งฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยบุรี และให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครม.ในการให้ กฟผ.ดำเนินโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี

โดยเหตุที่ศาลยกฟ้องระบุว่า กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีตามที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ ครม. มีมติบนเว็บไซต์ www.eppo.go.th และบนเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือได้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯ ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 50 แล้ว คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, ครม., กฟผ., กับกระทรวงพลังงาน จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามมติ ครม.และต่อรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ การดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวไม่ใช่โครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงาสนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 กฟผ.จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานฯดังกล่าว ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำในฐานะสำนักเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโยงแห่งชาติไทย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการดังกล่าวหลายจังหวัด มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการอิสระ สมาชิกวุฒิสภา คณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการพัมนาแหล่งน้ำมาให้ข้อคิดเห้น ข้อเสนอแนะ โดยกรมทรัพยากรน้ำได้มีหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคระกรรมาธิการแม่น้ำโขงแจ้งความเห็นที่ได้จากเวทีต่างๆ และยังนำข้อมูลโครงการฯเท่าที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยจากรัฐบาล สปป.ลาว ลงเว็บไซด์ของคณะกรรมิการแม่น้ำโขง การดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมทรัพยากรน้ำจึงดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง เกี่ยวกับการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีการดำเนนิโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแล้ว ไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

ภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ชาวบ้านหลายรายน้ำตาคลอ บางรายร้องไห้อย่างโศกเศร้า ซึ่งนายนิวัฒน์ยืนยันว่ทางกลุ่มจะต้องยื่นอุทธรณ์อย่างแน่นอน เพราะหากเกิดเขื่อนไซยะบุรีขึ้นในแม่น้ำโขง ก็จะทำให้มีอีกหลายเขื่อนเกิดขึ้นตามมา เช่น เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งก็เพราะมีการอ้างกระบวนการการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ซึ่งทำให้ประชาชนกลายเป็นแค่หุ่นของภาครัฐ แต่เสียงของประชาชนกลับไม่ได้รับการรับฟัง

ด้านนางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมทนายความฟ้องร้องคดีฯ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการหารือกับผู้ฟ้องคดีทั้งหมด เพื่อที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในคดีดังกล่าว เพราะยังเห็นว่าในคำพิพากษาวันนี้ไม่ได้พิจารณาถึงเรื่องโครงการที่ผลกระทบข้ามพรมแดน และในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่มีคำสั่งให้ศาลปกครองรับพิจารณาคดีดังกล่าวก่อนหน้านี้ได้มีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คนเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นความเห็นที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีจะอุทธรณ์ได้ และยังเชื่อมั่นว่าศาลปกครองจะช่วยคุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว เพราะคดีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับการก่อสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งในลำน้ำโขงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากไม่มีการคุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดนจากกรณีนี้ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนอีกหลายกรณีในอนาคตหลังจากการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว อย่างไรก็ตามซึ่งทางกลุ่มจะมีเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ภายในวันที่ 24 ม.ค. 2559








กำลังโหลดความคิดเห็น