อุดรธานี - ผู้ฟ้องคดีเขื่อนไชยะบุรี และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประชุมกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวและต่อสู้คดีหลังศาลปกครองรับฟ้องกรณีสร้างเขื่อนไชยะบุรี ดำเนินการโดยไม่ฟังความคิดเห็นประชาชน ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด พร้อมออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนต้านโครงการเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนใหม่ตอนใต้ของลาวแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง
วันนี้ (12 พ.ย.) ที่โรงแรมเพรสซิเดนท์ อ.เมืองอุดรธานี ผู้ฟ้องคดีเขื่อนไชยะบุรีจำนวน 37 คน เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้นัดประชุมเพื่อพูดคุยและเตรียมการต่อสู้คดีเขื่อนไชยะบุรี โดยไม่ให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายนิวัติ ร้อยแก้ว ตัวแทนชาวบ้านจังหวัดเชียงราย นายอำนาจ ไตรจักร ตัวแทนชาวบ้านจังหวัดนครพนม และ น.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน พร้อมเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ แสดงจุดยืนต่อกระบวนการปรึกษาหารือโครงการเขื่อนดอนสะโฮง
โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่รัฐบาล สปป.ลาวได้ประกาศที่จะดำเนินโครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการ PNPCA ซึ่งจะต้องมีการดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ซึ่งได้กำหนดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศได้ตกลงเริ่มกระบวนการฯ ในปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาและจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนในเดือนมกราคม 2558
ขณะนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทย กำลังเดินหน้าจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนดอนสะโฮง ในวันที่ 10 พ.ย.ที่ จ.อุบลราชธานี และวันที่ 12 พ.ย.ที่ จ.นครพนม และเหลืออีก 4 เวทีซึ่งยังไม่ระบุรายละเอียด
แม้ว่าเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้เคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วมากกว่า 3 ครั้ง รวมไปถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำและตัวแทนเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผลปรากฏว่า
จนถึงปัจจุบันทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยังไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไม่ได้รับเชิญใดๆ ทั้งที่พวกเราคือผู้ที่กำลังจะได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งนี้และอีก 9 แห่ง
พวกเรามีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งกับกระบวนการและวิธีการที่กรมทรัพยากรน้ำกำลังดำเนินการสำหรับกรณีเขื่อนดอนสะโฮงที่กำลังจะซ้ำรอยและแย่ยิ่งกว่ากรณีเขื่อนไชยะบุรี เมื่อปี 2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนความหมายของคำว่า Prior Consultation เป็นการให้ข้อมูล ไม่ใช่เป็นการปรึกษาหารือ เป็นการกีดกันเสียงของประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่มีความหมาย และไม่มีสิทธิอันใดในฐานะประชาชนลุ่มน้ำโขงเลย
ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ทางเครือข่ายฯ ได้เคยเสนอไป เช่น การจัดเวทีรับฟังประชาชนริมน้ำโขงให้ครบทุกพื้นที่ การแปลเอกสารรายงานต่างๆ และเผยแพร่ให้ผู้เข้าร่วมได้อ่านก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน รวมไปถึงให้เจ้าของโครงการได้เข้าร่วมชี้แจงร่วมกับตัวแทนสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง และกรมทรัพยากรน้ำ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ
กระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ถือว่าทำให้กระบวนการ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 (Mekong Agreement 1995) มีมาตรฐานตกต่ำลงไปอีก พวกเราสิ้นหวังต่อกรมทรัพยากรน้ำในฐานะหน่วยงานรัฐตัวแทนรัฐบาลไทย ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนชาวไทยผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และโดยเฉพาะการกีดกันประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงให้ไม่สามารถเข้าร่วม ไม่สามารถแม้แต่จะได้รับเชิญ สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขัดต่อหลักกฎหมายสากล
ดังนั้น พวกเราจึงขอให้กรมทรัพยากรน้ำยุติกระบวนการทั้งหมดของกระบวนการโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และร่วมกันวางแผนกระบวนการให้ถูกต้อง ครอบคลุม และมีมาตรการที่จะทำให้มั่นใจว่าผู้ที่จะเดือดร้อนจะสามารถเข้าร่วมกระบวนการได้ และนำไปสู่การตัดสินใจที่รับผิดชอบต่อประชาชนในลุ่มน้ำโขงอย่างแท้จริง
นายอิทธิพล สาสุข ตัวแทนจากจังหวัดหนองคาย เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ในวันนี้ผู้แทนเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงมาพูดคุยกันในเครือข่าย และรับฟังสรุปการทำงานของทางทนายความ ที่ได้มาแจ้งให้เครือข่ายรับทราบว่าศาลปกครองสูงสุดได้รับฟ้องของเครือข่ายฯ ในกรณีที่เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรีดำเนินการไม่ครบขั้นตอน กล่าวคือไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างครบถ้วน และการดำเนินการไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในปัจจุบันนี้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
โดยนายอิทธิพลได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคายว่า ปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากมาย และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่นการไหลของน้ำที่ผ่านมาเมื่อก่อนนี้จะไม่เกิดน้ำขึ้น น้ำลง เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่จะไหลไปในทางทิศเดียวไม่มีการไหลย้อน
แต่เวลานี้มีการขึ้นลงของน้ำ และจากการสังเกตในปีนี้ซึ่งน้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นสูงสุดในเดือนสิงหาคม กันยายน ของทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ทำการเกษตรริมโขงเป็นอย่างมาก