xs
xsm
sm
md
lg

ลาวออกข่าวสับสน ‘ระงับงานก่อสร้าง’ เขื่อนดอนสะโฮง

เผยแพร่:   โดย: โจชัว ลิปส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Laos 'halts work' Don Sahong dam
By Joshua Lipes
22/08/2014

เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งของทางการลาว ออกมาแถลงว่า งานก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “ดอนสะโฮง” ในแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างหนักโดยที่เหล่าชาติเพื่อนบ้านพากันแสดงความวิตกกังวลนั้น ได้ถูกระงับเอาไว้ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ กลับระบุยืนยันว่า โครงการยังคงกำลังเดินหน้า

ลาวได้ระงับการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “ดอนสะโฮง” ในแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างหนัก ภายหลังที่เหล่าชาติเพื่อนบ้านของลาวต่างแสดงความวิตกกังวลผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ทั้งนี้ตามคำแถลงของเอกอัครราชทูตลาวคนใหม่ประจำกัมพูชา อย่างไรก็ตาม บริษัทมาเลเซียที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างกลับออกมายืนยันว่า โครงการนี้ยังคงกำลังเดินหน้า

เอกอัครราชทูตลาว ประสิต สายะสิต (Prasith Sayasith) ประกาศเรื่องการระงับการก่อสร้างนี้ ในระหว่างที่เขาเข้าพบหารือกับ ฮอร์ นัมฮอง (Hor Namhong) รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเมื่อวันอังคาร (19 ส.ค.) ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวา ของทางการจีน ซึ่งได้อ้างคำแถลงของ กอย เกือง (Kuy Kuong) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา

เชื่อกันว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่ของลาวออกมาประกาศว่ามีการระงับการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้เอาไว้ก่อน นับตั้งแต่ที่ได้มีการประชุมระดับภูมิภาคในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าต้องเปิดทางให้มีการตรวจสอบโครงการอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ภายหลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักทั้งจากเหล่าชาติเพื่อนบ้านและจากนักสิ่งแวดล้อม

“หลังจากการประชุมหารือครั้งก่อนๆ ในประเทศไทย ลาวก็ได้ตัดสินใจให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงเอาไว้ก่อน” กอย เกือง อ้างคำพูดที่เอกอัครราชทูตลาวกล่าวต่อ ฮอร์ นัมฮอง

เขื่อนดอนสะโฮง นับเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งกันหนักแห่งที่ 2 ซึ่งลาวกำลังพยายามดำเนินการอยู่ในแม่น้ำโขง อันเป็นสายน้ำที่ทรงความสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฮอร์ นัมฮอง ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาด้วย ได้แสดงความยินดีต่อการระงับการก่อสร้างในคราวนี้ พร้อมกับได้อ้างอิงถึง “ความตกลงแม่น้ำโขงปี 1995” (1995 Mekong Agreement) ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าการวางแผนการก่อสร้างเขื่อนใดๆ ในลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง จะต้องได้รับการหารืออภิปรายกันอย่างกว้างขวางจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 เสียก่อน จึงจะลงมือดำเนินการได้

อีก 3 ชาติในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนอกเหนือจากลาวแล้ว ยังประกอบด้วย ไทย, กัมพูชา, และเวียดนาม โดยปรากฏว่าทั้ง 3 ชาตินี้ต่างออกมาเรียกร้องอย่างเป็นทางการ ให้ลาวหยุดการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์เอาไว้ก่อน เพื่อให้สามารถศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ ได้มากขึ้นกว่าที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม เมกะ เฟิร์สต์ คอร์เปอเรชั่น เบอร์ฮัด (Mega First Corporation Berhad) บริษัทมาเลเซียที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ ได้แถลงในวันพุธ (20 ส.ค.) ว่าการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงกำลังเดินหน้าไปตามแผนการที่วางเอาไว้ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post)

“ผมกำลังอยู่ที่บริเวณก่อสร้างโครงการ และผมสามารถบอกกับคุณได้ว่า การก่อสร้างไม่ได้ถูกสั่งระงับแต่อย่างใด” ยกเว้นแต่การหยุดก่อสร้าง “ชั่วคราว” เนื่องจากน้ำที่กำลังท่วมท้นดอนสะโฮง ปีเตอร์ ฮอว์คินส์ (Peter Hawkins) ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของดอนสะโฮง บอกกับพนมเปญโพสต์

ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวนั้น งานเตรียมการเพื่อการก่อสร้างที่ดอนสะโฮงได้เริ่มขึ้นมาเมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว และการก่อสร้างอย่างเต็มที่ก็มีกำหนดจะเดินหน้ากันในเดือนธันวาคมนี้

*ไม่มีการปรึกษาหารือกันก่อน*

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วีระพัน วีระวง (Viraphonh Viravong) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว ได้ประกาศระหว่างการประชุมในประเทศไทยของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission ใช้อักษรย่อว่า MRC) ซึ่งมีหน้าที่กำกับตรวจสอบการพัฒนาในแม่น้ำที่เปรียบประดุจเส้นเลือดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายนี้ ว่าลาวจะยื่นเสนอโครงการนี้ให้เหล่าชาติลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้ปรึกษาหารือกันก่อนการก่อสร้าง

ทว่าในโอกาสเดียวกันนี้เอง เขากลับบอกกับชาติสมาชิก MRC รายอื่นๆ ว่า การดำเนินงานตามโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไป

“ด้วยความสนับสนุนและข้อเสนออันสร้างสรรค์ของพวกท่าน รัฐบาลลาวจะสืบต่อพัฒนาโครงการนี้ในลักษณะที่รับผิดชอบและมุ่งสู่ความยั่งยืน” เขากล่าว

พนมเปญโพสต์ยังได้อ้างอิงคำพูดของ สุรศักดิ์ กล้าหาญ (Surasak Glahan) ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารของ MRC ว่าได้พูดในเวลานั้นว่า “เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งอัธยาศัยไมตรี สปปช.ลาว [ได้แถลงว่า ตน] จะไม่ดำเนินการก่อสร้างในระหว่างกระบวนการของการปรึกษาหารือก่อนเริ่มดำเนินโครงการ” ถึงแม้ว่าระยะการปรึกษาหารือนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด และการก่อสร้างจะระงับลงเมื่อใด เหล่านี้ยังไม่มีความกระจ่างชัดเจน

แต่ก่อนหน้านั้น ลาวปฏิเสธเรื่อยมาไม่ยอมทำตามข้อกำหนดภายใต้ MRC ที่ว่า ลาวต้องยื่นเสนอโครงการดอนสะโฮง ให้เหล่าชาติสมาชิกคณะกรรมาธิการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ลาวยอมตกลงแต่เพียงว่าจะแจ้งให้เหล่าสมาชิกทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการ

พวกกลุ่มสิ่งแวดล้อมนั้นย้ำว่า การประเมินค่าโครงการนี้ ตามกระบวนการของการปรึกษาหารือกันก่อนในหมู่ประเทศสมาชิก MRC นั้น จะต้องมีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ตลอดจนการอภิปรายถกเถียงกันระหว่างชาติสมาชิกด้วย

*คุกคามความมั่นคงของภูมิภาค*

องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก ให้ความเห็นว่า โครงการเขื่อนดอนสะโฮง ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้ เนื่องจากกระทบกระเทือนประชาชนราว 60 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งพึ่งพาอาศัยปลาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากแม่น้ำโขง สำหรับเป็นอาหารและสำหรับการครองชีพของพวกเขา

ขณะที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature ใช้อักษรย่อว่า WWF) เรียกร้องให้ MRC “ป้องกันไม่ให้การมุ่งหาผลประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว กลายเป็นเครื่องทำลายความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค และการร่วมกันบริหารจัดการแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก”

WWF บอกว่าเวลากำลังเหลือน้อยลงทุกทีแล้วสำหรับการหยุดยั้งเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนไซยะบูลี (Xayaburi dam เขื่อนแห่งแรกที่ลาวเริ่มดำเนินการก่อสร้างถึงแม้มีเสียงคัดค้านจากเหล่าประเทศเพื่อนบ้าน) โดยที่เขื่อนเหล่านี้อาจจะสร้าง “ความเสียหายอย่างไม่มีทางกู้กลับคืนมาได้” ให้แก่ความมั่นคงทางอาหาร และแก่สัตว์ที่อยู่ในความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์อย่าง โลมาน้ำจืด

ทั้งนี้เขื่อนดอนสะโฮงจะสร้างตรงปลายน้ำของ “ฮู สะโฮง” ซึ่งเป็นทางน้ำไหลกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ระหว่าง “ดอน” (เกาะ) ใหญ่กลางแม่น้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ดอนสะโฮง กับ ดอนสะดำ

WWF ระบุว่า เขื่อนแห่งนี้คุกคามสัตว์ที่อยู่ในความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์อย่าง โลมาอิรวดี และจะปิดกั้นทางน้ำไหลที่มีอยู่เพียงทางเดียวซึ่งพวกปลาใช้ในการอพยพในช่วงหน้าแล้ง จึงกำลังทำให้แหล่งปลาน้ำจืดแห่งใหญ่ที่สุดของโลกต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากวิทยุเอเชียเสรี)
วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น