แถ่งเนียน - ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ส่งเสียงคัดค้านการสร้างเขื่อนไฟฟ้าดอนสะโฮงที่ลาว วางแผนจะสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงสายหลัก
การคัดค้านมีขึ้นในปลายเดือน พ.ย. หลังศูนย์พัฒนาและนวัตกรรมสีเขียวที่ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย ศูนย์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาเครื่อข่ายแม่น้ำเวียดนาม และทางการท้องถิ่น ได้เสร็จสิ้นการสำรวจชุมชนต่างๆ ของจังหวัดเกิ่นเธอ ก่าเมา ซ็อกจาง อานซาง เกียนซาง และวิงลอง
ผู้ตอบแบบสำรวจ 758 ราย ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งได้รับแผ่นพับเกี่ยวกับการหารือในประเด็นการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ระบุว่า ไม่เคยได้ยินแผนการสร้างเขื่อนมาก่อน และทั้งหมดได้สรุปว่า ชาวเวียดนามจะไม่ได้รับอะไรจากการสร้างเขื่อนเหล่านี้
ตามเอกสารที่จัดทำโดยผู้สำรวจระบุว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงราว 20 ล้านคน จะเผชิญต่อความยากลำบากอันเนื่องจากการสร้างเขื่อน คาดว่าชั้นตะกอนดินโคลนจากการพัดพาของกระแสน้ำจะลดลงทำให้ดินในปลายน้ำไม่เหมาะที่จะเพาะปลูก และนำไปสู่การพังทลายของสิ่งปลูกสร้างริมฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งปัญหาความแห้งแล้ง และความเค็มที่จะทวีคความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูแล้ง
นอกจากนั้น การทำประมง และสัตว์ป่าอื่นๆ จะลดจำนวนลง คาดว่าการสร้างเขื่อนแห่งนี้จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลายล้านชีวิต ชาวเวียดนามในพื้นที่ชนบทจำนวนมากจะถูกบังคับให้อพยพเข้าไปในเมืองเพื่อทำงานในโรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสร้างประชากร และการจ้างงานในพื้นที่
แม้ว่าการก่อสร้างเขื่อนแห่งแรก คือ เขื่อนไซยะบุรี ได้เริ่มขึ้นแล้ว และยังมีแผนการสร้างเขื่อนแห่งอื่นๆ ตามแนวแม่น้ำโขงสายหลัก แต่นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนในประเทศหนึ่งถูกถามถึงความรู้สึกเกี่ยวกับโครงการที่เกิดขึ้นในอีกประเทศหนึ่งซึ่งใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน
ในเดือน ก.ย.2556 ลาวประกาศแผนที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ตรงกลางของเส้นทางที่ปลาใช้อพยพ ซึ่งอยู่ห่างจากกัมพูชาประมาณ 2 กม. และห่างจากเวียดนามราว 420 กม. ซึ่งรายงานการสร้างเขื่อนขั้นสุดท้ายจะยื่นต่อรัฐมนตรีภูมิภาคในเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้
ก่อนหน้านี้ ในเดือน พ.ย.2555 ลาวเริ่มลงมือสร้างเขื่อนไซยะบุรีมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ซึ่งฝ่ายที่คัดค้านระบุว่า เขื่อนไซยะบุรี จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศบนแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนกว่า 60 ล้านคน โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามโน้มน้าวรัฐบาลลาวให้ระงับโครงการดังกล่าว และร้องต่อผู้คนที่อยู่อาศัยในประเทศโดยรอบให้ช่วยสนับสนุนการคัดค้าน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในกรณีที่เลวร้ายน้อยที่สุดคือ เขื่อนจะทำลายนาข้าว และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของภูมิภาคที่สร้างความเสียหายราว 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และในกรณีที่เลวร้ายมากที่สุดคือ เขื่อนแตก ซึ่งจะปล่อยน้ำกว่า 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตรลงสู่แม่น้ำเบื้องล่าง
“เพราะทั้งโครงการเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ทำให้แม่น้ำโขงถูกจัดให้เป็นจุดที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เวียดนามเป็นประเทศปลายน้ำคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ประชาชนหลายล้านคนในกัมพูชา ลาว และไทย ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน” เจ้าหน้าที่จากโครงการแม่น้ำโขงของ WWF กล่าว.