xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านปากมูลเข้ากรุงจี้ “ประยุทธ์” ลงนามตั้ง กก.แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - กลุ่มตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลตบเท้าขึ้นรถไฟมุ่งหน้าไปพบ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี จี้ให้ส่งรายชื่อคณะกรรมการแก้ปัญหา 3 ฝ่ายให้ นายกฯ แต่งตั้ง หลังได้ข้อยุติผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการเมื่อกว่า 1 เดือนแต่ไม่มีความคืบหน้า พร้อมบุกกรมทรัพยากรน้ำให้ขยายเวลารับฟังผลกระทบการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในลาวอีก 6 เดือน

วันนี้ (31 มี.ค.) ที่สถานีรถไฟอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลประมาณ 30 คน นำโดย น.ส.จันทร์นภา คืนดี มารวมตัวขึ้นรถไฟเที่ยวเย็นเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปพบกับนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลการแก้ปัญหาของชาวบ้านเขื่อนปากมูลที่ทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 1 เม.ย.นี้

การเดินทางไปครั้งนี้ ชาวบ้านปากมูลจะทวงถามกรณีการสรรหาคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนโยบาย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวิชาการ 11 สาขา เช่น เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม พลังงาน ประมง โดยคณะกรรมการจะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาการทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 5 ปี ตามที่เคยมีข้อตกลงไว้ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หลังทำการทดลองคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเป็นผู้พิจารณาว่าการเปิดประตูระบายน้ำมีผลดีผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการประมง และด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร

นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดนี้ยังต้องเป็นผู้พิจารณาการจ่ายเงินเยียวยาชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร กว่า 6,000 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อกว่า 26 ปีก่อน ครอบครัวละ 310,000 บาท

การสรรหาคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะมีผลในทางปฏิบัติเมื่อคณะทำงานของ ม.ล.ปนัดดานำรายละเอียดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านปากมูลจึงรวมตัวเดินทางลงไปทวงถามในวันนี้

หลังไปทวงถามการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายใช้แก้ปัญหาเขื่อนปากมูลแล้ว ตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดจะเดินทางต่อไปยังกรมทรัพยากรน้ำเพื่อสอบถามข้อเสนอในการประชุม MRC เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ซึ่งที่ประชุมให้กรมทรัพยากรน้ำขยายเวลาการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในประเทศลาวเพิ่มขึ้นอีก 6 เดือน

ทั้งนี้ เพื่อให้มีเวลาศึกษาและรับฟังผลกระทบอย่างรอบด้านใน 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการขยายเวลา แต่กลุ่มชาวบ้านกลับพบว่าบริษัทผู้ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงมีการสร้างสะพานใช้ขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากแผ่นดินใหญ่ไปยังดอนสะดำ ซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งของน้ำตกคอนพะเพ็งที่เป็นจุดก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้แล้วด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น