เชียงราย - กรมทรัพยากรน้ำ พร้อม MRC เปิดเวทีแจกแจงข้อมูลโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เจอคนเชียงของขึ้นป้ายรุมต้าน ชี้ปิดกั้นเส้นทางเดินของปลาน้ำโขงไม่พอ ทำไทยถูกเขื่อนดักทั้งน้ำโขงตอนบน-ตอนล่าง
วันนี้ (15 ธ.ค.) กรมทรัพยากรน้ำได้จัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง คือ เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนพรมแดน สปป.ลาว-กัมพูชา ห่างจากชายแดนด้าน จ.อุบลราชธานี ของไทยลงไปประมาณ 100 กิโลเมตร ขึ้นที่หอประชุมโรงเรียนบ้านหัวเวียง ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีนายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และคณะ รวมทั้งตัวแทนจากคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) ร่วมให้ข้อมูล ท่ามกลางตัวแทนจากภาครัฐ และเอกชนรวมทั้งภาคประชาชน ประมาณ 200 คน
โดยเนื้อหาหลักๆ คือ การชี้แจงถึงสถานะของโครงการที่มีการศึกษาเพื่อการก่อสร้างแล้ว โดยทางรัฐบาล สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพ และมีเอกชนจากประเทศมาเลเซียทำการก่อสร้าง แตกต่างจากเขื่อนไชยะบุรีที่มีเอกชนไทยคือ ช.การช่าง เป็นผู้ก่อสร้าง ปัจจุบันมีการให้ประชาชนชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมฝั่งอพยพออกจากพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่มีการขนเครื่องจักรและกำลังคนเข้าไปก่อสร้างอย่างจริงจัง
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความกังวลและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่โครงการดังกล่าว รวมไปถึงกระบวนการที่ภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม
นายสมเกียรติ เชื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่า บริเวณจุดก่อสร้างเขื่อนตั้งอยู่ใกล้แก่งหลี่ผี และคอนพะเพ็ง ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง หรือน้ำตกกลางแม่น้ำโขง เป็นจุดที่ปลาตั้งแต่แม่น้ำโขงตอนใต้ จนถึงแม่น้ำโขงตอนบน ใช้เป็นเส้นทางเดินทางขึ้น-ลง รวมถึงปลาบึกในแม่น้ำโขงด้วย จึงถือเป็นการปิดเส้นทางเดินของปลาที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนเกือบทั้งหมดที่เข้าร่วมรับฟังข้อมูลต่างแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนดอนสะโฮง
โดยทางกรมทรัพยากรน้ำ และ MRC รับจะนำข้อมูลที่ได้รับที่ อ.เชียงของ ไปแจ้งต่อรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ได้รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการจัดเวทีครั้งนี้มีประชาชนในพื้นที่จำนวนหนึ่งนำป้ายข้อความต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ทั้งภาษาไทย และอังกฤษในลักษณะ เช่น Stop Mekong Dom, หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง, อย่าอ้างสร้างเขื่อนเพื่อการพัฒนา, หยุดเขื่อนปากแบง ฯลฯ มาติดบนเรือ-รถ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการสร้างเขื่อนตั้งแต่ก่อนเปิดเวที แต่ไม่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งใดๆ เกิดขึ้น
แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขงในพื้นที่ อ.เชียงของ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เดิมเวทีลักษณะนี้เป็นการจัดขึ้นเพื่อรับฟังความเห็นประชาชนล่วงหน้าก่อนดำเนินการโครงการ แต่เวทีนี้น่าเป็นห่วงว่าท้ายที่สุดจะมีการรับฟังความเห็นภาคประชาชนหรือไม่ และจะลงเอยเหมือนการสร้างเขื่อนไชยะบุรี ที่กั้นแม่น้ำโขงในแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ของลาว ที่มีการก่อสร้างไปแล้วหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก็ไม่มีผลใดๆ เลย
ขณะเดียวกัน เห็นว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงไม่ควรจะทำทีละเขื่อน แต่ควรมีเวทีสำหรับหารือเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนตลอดแนว เพราะการไปให้ข้อมูลหรือรับฟังความเห็นทีละเขื่อนๆ ไม่ได้ทำให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมมากนัก และลักษณะเหมือนเป็นพิธีการมากกว่า
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างเขื่อนทางแม่น้ำโขงตอนใต้จำนวน 12 เขื่อน ที่ก่อสร้างแล้วมี 1 เขื่อนคือเขื่อนไชยะบุรี แห่งที่ 2 คือเขื่อนดอนสะโฮง ส่วนแห่งที่ 3 ยิ่งน่าจับตาเพราะคือเขื่อนปากแบงตั้งอยู่ในเขตเมืองปากแบงห่างจาก อ.เชียงของ เข้าไปในเขต สปป.ลาว ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร ซึ่งจะทำให้แม่น้ำโขงที่ผ่านภาคเหนือของประเทศไทยถูกกั้นด้วยเขื่อนจีนทางตอนเหนือกว่า 6 แห่งแล้ว และเขื่อน สปป.ลาว ทางตอนใต้ด้วย