xs
xsm
sm
md
lg

สหประชาชาติเผยขาดแคลนทุน $40 ล้าน ช่วยเหลืออาหารแก่ผู้ประสบภัยชาวพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>แฟ้มภาพเอเอฟพีเดือนส.ค.2556 ชาวพม่าขนเสบียงอาหารบรรเทาทุกข์ที่ได้รับจัดสรรจากโครงการอาหารโลก (WFP) สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองพะสิม เขตอิรวดี ของพม่า. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

รอยเตอร์ - โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนในพม่ามากกว่า 600,000 คน ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความรุนแรง และความขัดแย้ง และประกาศว่าหน่วยงานยังขาดแคลนทุนอีก 40 ล้านดอลลาร์สำหรับความช่วยเหลือด้านอาหารไปจนถึงเดือนมิ.ย. 2559

โครงการอาหารโลกระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า ชาวพม่าราว 13 ล้านคน หรือร้อยละ 26 ของประชากรทั้งหมดของประเทศมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ร้อยละ 35 ของเด็กทั้งหมดในพม่าขาดสารอาหารและเติบโตอย่างไม่ถูกต้อง

น้ำท่วมและดินถล่มที่เกิดขึ้นใน 12 รัฐและเขตจาก 14 รัฐและเขตของพม่า เมื่อเดือนมิ.ย.-ก.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 172 คน และมากกว่า 1.7 ล้านคนต้องพลัดถิ่นชั่วคราว ซึ่งรายงานของโครงการอาหารโลกระบุว่า ประชาชนราว 440,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดินถล่ม ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร

ความรุนแรงระหว่างชุมชนในรัฐยะไข่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารของรัฐบาลและกบฎชาติพันธุ์ในรัฐกะฉิ่น และรัฐชาน ทำให้ประชาชนต้องไร้ที่อยู่ 172,000 คน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารเช่นกัน

หน่วยงานมีเป้าหมายที่จะจัดหาความช่วยเหลือด้านอาหารและเงินให้กับประชาชน 2.9 ล้านคนในพม่า และช่วยเหลือประชาชนที่ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศกลับสู่บ้านเรือนหรือตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะมีชีวิตและการงานที่ดีขึ้น

"การมีส่วนร่วมของโครงการอาหารโลกในพม่าถูกขับเคลื่อนโดยเป้าหมายการช่วยเหลือประเทศให้บรรลุการลดอัตราผู้อดอยากและหิวโหยเป็นศูนย์ภายในปี 2573" ดอม สกาเพลลี หัวหน้าโครงการอาหารโลกในพม่า กล่าวในคำแถลง

พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของทหารหลายทศวรรษ การเลือกตั้งที่จัดขึ้นในเดือนพ.ย. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 กำลังเตรียมที่จะเข้าบริหารประเทศในปีหน้า

รัฐบาลต่อสู้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนและดำเนินต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ก่อให้เกิดการพลัดถิ่นของผู้คนเป็นจำนวนมากภายในประเทศและทำให้ประชาชนหลายแสนคนต้องหาทางลี้ภัยข้ามพรมแดนไปฝั่งไทย

ในเดือนต.ค. รัฐบาลได้ลงนามหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม แต่ยังมีอีก 7 กลุ่มจาก 15 กลุ่มที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมปฏิเสธที่จะลงนาม

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่าการต่อสู้ตั้งแต่เดือนต.ค. ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกบฎชาติพันธุ์ทำให้ประชาชนต้องไร้ที่อยู่ 6,000 คน ในรัฐชาน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนในรัฐชานระบุว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นมากกว่า 10,000 คน ส่วนในรัฐกะฉิ่น การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกบฎชาติพันธุ์ทำให้มีผู้พลัดถิ่น 1,200 คน.
กำลังโหลดความคิดเห็น