เอเอฟพี - การต่อสู้ระลอกใหม่เริ่มขึ้นระหว่างกองทัพ และกลุ่มกบฏในพื้นที่ภาคเหนือของพม่า ทำให้พลเรือนหลายร้อยคนต้องอพยพหลบหนีจากความรุนแรงในช่วงเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ หลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ชัยชนะตกเป็นของพรรคฝ่ายค้านของอองซานซูจี
ประชาชนหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากการปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐชานเหนือ และกองกำลังฝ่ายรัฐบาล ด้วยกองทัพทหารพม่าเปิดฉากโจมตีทางอากาศมุ่งเป้าโจมตีกลุ่มกบฏชาติพันธุ์
“เราไม่กล้าอยู่บ้านเพราะเฮลิคอปเตอร์โจมตีอยู่เรื่อยๆ ผู้คนต่างหวาดกลัว” คุณครูอายุ 41 ปี ที่หลบหนีออกจากพื้นที่พร้อมกับชาวบ้านคนอื่นๆ อีก 15 คน กล่าวขณะหลบภัยอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองแลขา ห่างจากจุดสู้รบราว 100 กิโลเมตร
กองทัพยืนยันว่า มีเหตุต่อสู้เกิดขึ้นต่อเนื่องในรัฐกะฉิ่น และรัฐชาน พื้นที่ของประเทศที่ยังมีปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์มาเป็นเวลากว่า 70 ปี นับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491
เมื่อเดือนก่อน รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนหนึ่ง แต่ความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นในประเทศ
กองทัพรัฐชานเหนือ และกองทัพเอกราชกะฉิ่น ทั้งคู่ไม่ได้ร่วมลงนามข้อตกลง และมีส่วนในการปะทะที่กำลังดำเนินอยู่กับกองกำลังของรัฐบาลมาเป็นเวลาหลายเดือน
เมื่อการสู้รบเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทำให้ทางการตัดสินใจยกเลิกจัดการเลือกตั้งใน 7 หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดในรัฐชาน รวมทั้งระงับการลงคะแนนเสียงในพื้นที่บางส่วนของรัฐกะฉิ่น และรัฐกะเหรี่ยง
“ยังมีการต่อสู้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอด 2 คืนที่ผ่านมา โรงเรียนปิดการเรียนการสอน สามีฉันยังอยู่ดูแลบ้าน ฉันเป็นห่วงเขามาก ฉันไม่กล้ากลับเข้าไปเพราะยังกลัวอยู่ เฮลิคอปเตอร์ยังบินวนอยู่รอบๆ” ปา ลัต อายุ 35 ปี ที่หลบภัยอยู่ในวัดเลชา พร้อมลูกชาย 2 คน กล่าว
กองทัพพม่าเริ่มปฏิบัติการโจมตีมุ่งเป้ากลุ่มกบฏรัฐชาน เมื่อวันที่ 10 พ.ย. หลังกลุ่มกบฏโจมตีสถานีตำรวจ และด่านทหาร จนทำให้มีทหารเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ตามคำแถลงของรัฐบาลที่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
กองทัพรัฐชานเหนือ กล่าวว่า กองทัพเปิดฉากโจมตีทางอากาศในพื้นที่นับตั้งแต่นั้น
“พวกเขาใช้เครื่องบินทหาร และเฮลิคอปเตอร์” พ.ต.สาย คำ โฆษกกบฎรัฐชาน กล่าว
ประชาชนมากกว่าแสนคนต้องไร้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกลุ่มกบฏกะฉิ่น และกองทัพยุติลงในปี 2554.