xs
xsm
sm
md
lg

“เต็งเส่ง” ผลักดันแผนสันติภาพจัดหารือกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ในกรุงเนปีดอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีเต็งเส่ง (ที่ 2 จากซ้าย) สัมผัสมือกับผู้แทนกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชิน  หนึ่งในสมาชิกของทีมประสานงานหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) ระหว่างการพบหารือในกรุงเนปีดอ วันที่ 9 ก.ย.--Agence France-Presse.</font></b>

เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเต็งเส่งของพม่า พบกับผู้เจรจาสันติภาพของกลุ่มกบฏชาติพันธุ์เป็นครั้งแรกในกรุงเนปีดอวันนี้ (9) ในความพยายามที่จะบรรลุการหยุดยิงทั่วประเทศที่เฝ้ารอกันมายาวนานก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้

การเจรจาเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ที่มีวัตถุประสงค์จะยุติสงครามกลางเมืองหลายทศวรรษในพื้นที่ชายแดนของพม่า ทำให้ได้เห็นรัฐบาลนำกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และกองทัพมารวมตัวกันเพื่อกำหนดกรอบการทำงานในกระบวนการสร้างสันติภาพ

ขณะที่การหารือเพื่อร่างเอกสารหยุดยิงซึ่งถูกมองว่าก้าวแรกในประวัติศาสตร์ในกระบวนการสร้างสันติภาพ แต่พวกเขาก็ยังติดขัดกับความไม่ไว้วางใจ และเห็นขัดแย้งกันในประเด็นเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกบฏทุกกลุ่มในข้อตกลง

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า เต็งเส่ง ต้องการที่จะลงนามข้อตกลงหยุดยิง และเพื่อเป็นผลงานในฐานะผู้สร้างสันติภาพก่อนการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.

“ไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะลงนามหรือไม่ ประธานาธิบดีก็จะพบกับพวกเขา และกองทัพจะหารือกับพวกเขาอีกครั้ง ผมคิดว่ารัฐบาลแค่หวังที่จะสร้างความมั่นใจ” หล่า หม่อง ฉ่วย สมาชิกอาวุโสในทีมเจรจา กล่าว

รัฐบาลพม่า เห็นชอบที่จะอนุญาตกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 15 กลุ่ม ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ แต่กลุ่มกบฏยืนยันว่า ข้อตกลงควรรวมกลุ่มกบฏอีก 6 กลุ่มที่รัฐบาลปฏิเสธให้มีส่วนร่วมในการลงนามด้วย ซึ่งบางกลุ่มยังคงสู้รบกับกองทัพ

ผู้นำ 9 คน จากกลุ่มกบฏชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ปรากฏตัวในการหารือที่กรุงเนปีดอ รวมทั้งผู้แทนจากกองทัพเอกราชกะฉิ่น ที่เป็นหนึ่งในกองกำลังกบฏที่ใหญ่ที่สุดในพม่า แต่กองทัพพม่าส่งเพียงผู้แทนระดับล่างมาร่วมการเจรจา

ความขัดแย้งในรัฐกะฉิ่นทำให้ประชาชนราว 100,000 คน ต้องไร้ที่อยู่นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงยุติลงไม่นานหลังสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554

การสู้รบระหว่างกองกำลังของรัฐบาล และกบฏชาวจีนยังปะทุขึ้นในปีนี้ที่เขตโกกัง ทางเหนือของรัฐชาน ส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนหลบหนีออกจากที่อยู่อาศัย และหลายคนข้ามไปยังฝั่งพรมแดนจีน

การผนวกรวมกบฏโกกังในข้อตกลงสันติภาพ พร้อมกับพันธมิตรที่ร่วมต่อสู้คือ กองทัพอาระกันและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ยังเป็นข้อติดขัดสำหรับกองทัพ

“การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายถือเป็นนโยบายที่ดีที่สุด มันดีกว่าหากทุกคนมีส่วนร่วมในสันติภาพของประเทศ” ปะโด ซอ เกว ถู วิน ผู้แทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อาวุโส กล่าว

รัฐบาลกึ่งพลเรือนของเต็งเส่งที่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อ 4 ปีก่อน มองว่า การหยุดยิงทั่วประเทศเป็นเการเปิดทางไปสู่การเจรจาทางการเมืองที่ซับซ้อนขึ้น และคำถามเกี่ยวกับการปกครองระบอบสหพันธรัฐในประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น