เอเอฟพี - รัฐบาลพม่าจะลงนามข้อตกลงหยุดยิงที่เจรจากันมายาวนานในวันที่ 15 ต.ค. กับกองกำลังกบฏเพียง 8 กลุ่มเท่านั้น เจ้าหน้าที่พม่าเผยวานนี้ (4) ขณะที่กลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มใหญ่บางกลุ่มปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลง
การเจรจาหารือที่ยาวนานมากกว่า 2 ปี ที่จะยุติสงครามกลางเมืองในประเทศที่เริ่มมีเสถียรภาพ ด้วยรัฐบาลที่มุ่งหวังจะบรรลุข้อตกลงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย. แต่ความหวังสำหรับการหยุดยิงทั่วประเทศเกิดสั่นคลอน หลังกลุ่มกบฏบางกลุ่มปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลงหากไม่รวมกองกำลังกบฏทั้งหมดอยู่ในข้อตกลงนี้
“ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) จะลงนามกันในวันที่ 15 ต.ค. ที่กรุงเนปีดอ” หล่า หม่อง ฉ่วย สมาชิกอาวุโสของทีมเจรจาของรัฐบาล กล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มกบฏทั้ง 8 กลุ่มนั้นรวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ด้วย
“และเราจะเชิญกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทั้งหมดลงนามต่อไป” หล่า หม่อง ฉ่วย อ้างถึง กลุ่มกบฏ 15 กลุ่มที่รัฐบาลตกลงที่จะเจรจาด้วย
กลุ่มกบฏกลุ่มใหญ่ ที่รวมทั้งกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) ได้ปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลง และการปะทะระหว่างพวกเขากับกองกำลังของรัฐบาลได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อการเจรจามาถึงช่วงสำคัญ
เมื่อวันเสาร์ (3) สมาพันธ์กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เรียกร้องประชาคมโลกให้สนับสนุนความพยายามในการเจรจาทางการเมือง และสันติสุขที่แท้จริงในพม่า
“ในขณะที่ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกำลังจะลงนามโดยกลุ่มองค์กรเพียงแค่บางส่วน นั่นไม่อาจระบุได้ว่า เป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์” สภาสหพันธรัฐชาติสหภาพพม่า ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
รัฐบาลพม่าได้ตกลงที่จะอนุญาตกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 15 กลุ่มลงนามข้อตกลง แต่ปฏิเสธบางกลุ่มที่ยังคงต่อสู้ และไม่มีข้อตกลงหยุดยิงทวิภาคีต่อรัฐบาล
ในที่ประชุมระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ศูนย์สันติภาพพม่าในนครย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์ (4) อ่อง มิน หัวหน้าผู้เจรจาสันติภาพของรัฐบาล กล่าวว่า กองทัพไม่มีความตั้งใจที่จะทำให้กลุ่มเหล่านี้ไม่พอใจเพราะพวกเขาไม่ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ
“มันไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินใจได้โดยง่ายสำหรับรัฐบาลที่จะเดินหน้าข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ เพราะกลุ่มทางเหนือไม่พร้อมที่จะลงนาม” อ่อง มิน กล่าว โดยอ้างถึงกองกำลังต่างๆ ที่รวมทั้ง KIA
อ่อง มิน ระบุว่า รัฐบาลยอมรับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในหลักการ และจะพยายามหาทางที่กลุ่มต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมได้
หล่า หม่อง ฉ่วย ระบุว่า ข้อตกลงหยุดยิงจะลงนามโดยมีพยานชาวต่างชาติ และท้องถิ่น และรัฐบาลจะเชิญอองซานซูจี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านมาร่วมเป็นพยานด้วยเช่นกัน
ความขัดแย้งในรัฐกะฉิ่น ทำให้ประชาชนราว 100,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยนับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงยุติลงไม่นานหลังสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหารในปี 2554
การสู้รบระหว่างกองกำลังของรัฐบาล และกลุ่มกบฏยังปะทุขึ้นอีกในปีนี้ในเขตโกกัง ในรัฐชาน เป็นผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือนของตัวเอง และหลายคนข้ามไปฝั่งจีน
รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อ 4 ปีก่อน มองว่า การหยุดยิงทั่วประเทศจะเป็นการเปิดทางไปสู่การเจรจาทางการเมืองที่ซับซ้อนขึ้น และคำถามถึงการปกครองระบอบสหพันธรัฐ.