เอเอฟพี - ประชาชนมากกว่า 3,000 คน ต้องหลบหนีออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเองในพื้นที่ภาคเหนือของพม่า หลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม ตามการระบุของสหประชาชาติ วันนี้ (16) ที่ยิ่งเพิ่มความวิตกว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างสันติภาพนั้นอาจสั่นคลอน
การต่อสู้อย่างรุนแรงในรัฐชาน ทางภาคเหนือของพม่า ปะทุขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ระหว่างสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA)
นับเป็นท่าทีที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ของพม่าจะหันมาต่อสู้กันเอง และเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนจากรัฐบาลที่กองทัพให้การสนับสนุนไปสู่พรรคการเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตยของอองซานซูจี
“เราได้รับรายงานว่า ประชาชนมากกว่า 3,000 คน ต้องหลบหนีย้ายที่อยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา” มาร์ค คัตต์ส หัวหน้าสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำพม่า กล่าว
คัตต์ส กล่าวว่า ผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ไปอาศัยอยู่ตามวัดในเมืองจ๊อกแม ของรัฐชาน และได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มคนท้องถิ่น และกาชาดพม่า
สาย ทุน อ่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมืองจ๊อกแม กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้บอกต่อเขาว่าบรรดาครูนักเรียนต่างเดินเท้าหลบหนีการจับกุมตัว การสังหาร และการโจมตีลอบวางเพลิงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่รอบพื้นที่
แต่ สาย ทุน อ่อง ไม่ได้ระบุว่า กลุ่มใดที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้
รัฐบาลพม่าได้พยายามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่จะยุติสงครามกลางเมืองที่ยาวนานหลายทศวรรษระหว่างกองทัพ และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนมากที่ต่อสู้เพื่อการปกครองตนเอง
รัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่จำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้ง RCSS เมื่อปลายปีก่อน แต่ความพยายามของรัฐบาลที่จะลงนามข้อตกลงสันติภาพทั่วประเทศล่มลง หลังจากที่รัฐบาลไม่เห็นด้วยที่จะรวมบางกลุ่มซึ่งยังคงติดอยู่ในความขัดแย้งกับกองทัพ ซึ่งรวมถึงกลุ่ม TNLA
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่จุดชนวนการต่อสู้ระหว่าง RCSS และ TNLA แต่การขาดการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในข้อตกลงสันติภาพ ได้สร้างความวิตกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อาจเริ่มแข่งขันกับกลุ่มอื่นๆ ในการควบคุมดินแดน
การเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้าแทนที่รัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 ได้รับเสียงชื่นชมถึงความพยายามสร้างสันติภาพจากกลุ่มชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ในการประชุมที่จัดขึ้นที่กรุงเนปีดอเมื่อเดือนก่อน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ได้กล่าวว่า การดำเนินการข้อตกลงขึ้นอยู่กับพรรคของซูจี ที่จะตั้งรัฐบาลในเดือน เม.ย. นี้
อุปสรรคหลายอย่างยังรออยู่ข้างหน้า ที่รวมทั้งการต่อสู้ที่ยังคงดำเนินอยู่ และความสัมพันธ์อันตึงเครียดของซูจี กับกองทัพที่ทรงอำนาจ ซึ่งถือกุญแจสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน.