เอเอฟพี - ผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศในพม่าแสดงความวิตกเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเดือนหน้าเมื่อคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ของพม่าประกาศยกเลิกจัดการเลือกตั้งในหมู่บ้านหลายแห่งอ้างเหตุสู้รบระหว่างกองทัพกับกลุ่มกบฎ
พม่ากำลังมุ่งไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. ในสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์และผู้มีสิทธิเลือกตั้งหวังว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรมที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
แต่การเลือกตั้งถูกทำให้ด่างพร้อยจากข้อกล่าวหาว่าใช้วิธีสกปรก การร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่พร้อมในการจัดการ และความวิตกว่าชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้
ในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ (28) ศูนย์คาร์เตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศ กล่าวว่า การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างสันติและค่อนข้างยืดหยุ่นผ่อนปรนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์คาร์เตอร์ระบุถึงกรณีการข่มขู่ การทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ข้อผิดพลาดในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และความตึงเครียดทางศาสนาและชาติพันธุ์ที่เพิ่มสูง สร้างความไม่แน่นอนในบรรยากาศทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบของการปฏิรูปประชาธิปไตยของพม่า
องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ และดำเนินการตรวจสอบการเลือกตั้งหลายสิบครั้งในระบอบประชาธิปไตยระบุว่ายังมีความวิตกว่าบางพื้นที่ของประเทศที่ตกอยู่ในเหตุไม่สงบจะถูกกันออกจากการเลือกตั้ง
"ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งในหมู่บ้านที่มีจำนวนมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้นั้นก่อให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการถูกตัดสิทธิการมีส่วนร่วม" รายงานระบุ
ความคิดเห็นของศูนย์คาร์เตอร์มีขึ้นเมื่อคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ประกาศว่าการต่อสู้เมื่อไม่นานทำให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปไม่ได้ใน 2 เมือง และหมู่บ้านกว่า 50 แห่งในรัฐชาน
การตัดสินใจอย่างกะทันหันก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตยที่ส่งผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยพรรคได้กล่าวหา UEC ถูกกดดันจากพรรครัฐบาลซึ่งไม่มีหวังที่จะชนะในการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว
พื้นที่บริเวณพรมแดนพม่าตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองมานานระหว่างกลุ่มกบฎชาติพันธุ์และรัฐบาลกลาง
เมื่อต้นเดือน UEC ระบุว่าได้ยกเลิกแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในหมู่บ้านมากกว่า 400 แห่งในรัฐชานและรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือ รวมทั้งรัฐมอญและรัฐกะเหรี่ยงทางภาคตะวันออก เนื่องจากการสู้รบ
ส่วนในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เพราะพวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองจากรัฐบาล.