เอเอฟพี - ผู้อพยพมากกว่า 700 คน ที่พบบนเรือประมงเมื่อ 6 วันก่อนได้ขึ้นฝั่งที่รัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่าวานนี้ (3) ขณะที่สหรัฐฯ เตือนว่า จะติดตามชะตากรรมของคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด
กองทัพเรือพม่าพบผู้อพยพหลายร้อยคนในน่านน้ำของประเทศ และตั้งใจที่จะส่งคนกลุ่มนี้ให้แก่บังกลาเทศ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ที่บังกลาเทศจะต่อต้านการส่งตัวคนจำนวนมากข้ามพรมแดน
พม่าระบุว่า ผู้โดยสารบนเรือที่พบนอกชายฝั่งทั้ง 727 คน เมื่อวันศุกร์ (29) เป็นเบงกาลี และได้ขู่ว่าจะส่งตัวคนเหล่านี้ข้ามชายแดนก่อน กองทัพเรือจะนำเรือผู้อพยพไปยังรัฐยะไข่
“พวกเขาเดินทางถึงฝั่งเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ใน อ.หม่องดอ” เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น กล่าว
ทางการวางแผนที่จะย้ายคนกลุ่มนี้ไปที่หมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับชายแดนบังกลาเทศ ที่กลุ่มผู้อพยพ 200 คนก่อนหน้านี้ที่ทางการพม่าช่วยเหลือถูกควบคุมตัวขณะตรวจสอบสัญชาติ
เจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยชื่ออีกนายหนึ่งในเมืองสิตตเว รัฐยะไข่ กล่าวว่า ผู้อพยพ 200 คนกลุ่มแรกจะถูกส่งไปบังกลาเทศเร็วๆ นี้
“บังกลาเทศตกลงที่จะรับพวกเขา” เจ้าหน้าที่ กล่าว
แต่โฆษกหน่วยพิทักษ์ชายแดนของบังกลาเทศ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พม่ายังไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนกลุ่มดังกล่าวเป็นชาวบังกลาเทศ และว่าพวกเขาเพียงแค่ได้รับรายชื่อที่ไม่สมบูรณ์ของผู้อพยพ
“นโยบายของเราคือ เราพร้อมที่จะรับผู้อพยพกลับตราบเท่าที่มีหลักฐานสำคัญที่ระบุว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของเรา เราจะรับพวกเขากลับก็ต่อเมื่อยืนยันได้ว่า พวกเขาเป็นชาวบังกลาเทศ” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ กล่าว
นอกเหนือไปจากผู้อพยพที่เพิ่งถึงฝั่ง หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ยังมีผู้อพยพประมาณ 2,000 คน ยังคงติดอยู่กลางทะเล และได้เพิ่มแรงกดดันต่อทั้งพม่า และบังกลาเทศให้ผู้อพยพเหล่านี้กลับ และปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาการอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันพุธ (3) แอนน์ ริชาร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยี่ยมค่ายพักของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในพื้นที่ทางตะวันตกของอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า พม่าต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อคนบนเรือที่ขึ้นฝั่งเมื่อวันพุธ
“เรากำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเราต้องการที่จะมั่นใจว่าผู้คนบริสุทธิ์บนเรือเหล่านี้จะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม และได้รับการจัดการอย่างมีมนุษยธรรม” แอนน์ ริชาร์ด กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงจาการ์ตา
นอกจากนั้น ริชาร์ด ยังกล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการให้โรฮิงญาได้รับการปฏิบัติเช่นพลเมืองของพม่า และจะกดดันรัฐบาลพม่าต่อไปเพื่อให้พม่าเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย และเตรียมพร้อมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็ได้ร่วมเรียกร้องให้พม่ายุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเช่นกัน.