เอเอฟพี - ชาวพุทธชาตินิยมหลายร้อยคนเดินขบวนประท้วงในนครย่างกุ้งวันนี้ (27) ต่อต้านแรงกดดันจากนานาชาติที่ต้องการให้พม่าจัดการต่อปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมาก และให้ความช่วยเหลือบรรดาผู้ที่ยังติดค้างอยู่กลางทะเล
ผู้ชุมนุมประท้วง ที่รวมทั้งพระสงฆ์ ร้องตะโกนว่า “อย่าดูถูกประเทศของเรา” และ “ไม่มีโรฮิงญาในพม่า” ด้วยความโกรธแค้นที่ส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปยังสหประชาชาติ
วิกฤตผู้อพยพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจับตามองจากสภาพที่เลวร้าย และการเลือกปฏิบัติที่ชาวโรฮิงญานับล้านต้องเผชิญในพื้นที่ทางภาคตะวันตกของพม่า กลุ่มคนที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
“1.3 ล้านคนนี้ไม่ได้มาจากประเทศของเรา เราไม่ยอมรับว่ามีเชื้อชาติโรฮิงญาที่นี่” กอ เต๊ต ผู้ประท้วงอายุ 31 ปี กล่าว
ผู้ชุมนุมประท้วงที่หลายคนสวมเสื้อยืดที่มีข้อความเขียนว่า “มนุษย์เรือไม่ใช่พม่า หยุดโทษพม่า” ได้รวมตัวกันที่ทางแยกจอแจจุดหนึ่งในนครย่างกุ้ง ก่อนจะเดินขบวนผ่านถนนสายต่างๆ ในเมือง
ผู้อพยพทางเศรษฐกิจชาวบังกลาเทศ และชาวมุสลิมโรฮิงญาไร้รัฐจากพม่ามากกว่า 3,500 คน ได้เดินทางขึ้นฝั่งที่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเชื่อว่า ยังมีอีกหลายร้อยคนติดอยู่กลางทะเลที่ทั้งอาหาร และน้ำเริ่มร่อยหรอ หลังทางการไทยเข้าปราบปรามเครือข่ายค้ามนุษย์ในภาคใต้
และเมื่อสัปดาห์ก่อน กองทัพเรือพม่าได้พบกลุ่มผู้ชาย และเด็กที่อยู่ในสภาพหิวโหย และอ่อนแรง ที่ส่วนใหญ่น่าจะมาจากบังกลาเทศ เบียดเสียดกันอยู่ในเรือของนักค้ามนุษย์ที่บริเวณนอกชายฝั่งพม่า ทั้งหมดถูกควบคุมตัวในพื้นที่ชายแดนของรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในสภาพน่าสังเวช หลังเกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนในปี 2555 ที่ทำให้พื้นที่เกิดการแบ่งแยกเชื้อชาติ และจุดชนวนคลื่นความรุนแรงโจมตีต่อต้านชาวมุสลิม
แต่การเรียกร้องให้ช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวพุทธชาตินิยม
“ใครที่ช่วยชาวเบงกาลีอพยพผิดกฎหมายคือศัตรูของเรา” ผู้ประท้วงร้องตะโกน
ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับแผนการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซูจี พยายามที่จะลดความสำคัญของปัญหาในรัฐยะไข่ โดยกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่ประเทศต้องแก้ไขหลังพม่าหลุดพ้นจากการปกครองของทหาร
“เราเข้าใจว่านี่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ เรารู้ว่าเราต้องจัดการปัญหานี้สักวันหนึ่ง” วิน เต็ง สมาชิกรัฐสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กล่าว และเสริมว่า นี่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลพม่า
ด้านอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพลังเลที่จะพูดถึงวิกฤตผู้อพยพนี้ โดยผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ซูจี กลัวว่าจะสร้างความแตกแยกในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย.