เอเอฟพี - พม่าออกบังคับใช้กฎหมายประชากรที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีเป้าหมายที่ชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการอพยพที่ทำให้เห็นผู้คนจำนวนหลายพันคนหลบหนีออกจากประเทศ
ชาวโรฮิงญาที่สิ้นหวัง พร้อมกับผู้อพยพชาวบังกลาเทศที่เดินทางทางเรือได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่ไทยปราบปรามการค้ามนุษย์เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.
ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนได้หนีออกจากพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อหลีกหนีความรุนแรงทางศาสนา รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ ที่ขัดขวางชาวโรฮิงญาจากการเดินทาง หรือทำงาน
กฎหมายฉบับใหม่ของพม่าจะอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นดำเนินมาตรการกฎระเบียบเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวเพื่อให้อัตราการเกิดในเขตพื้นที่ของตัวเองอยู่ในระดับต่ำ ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์เมียนมาอาลินเมื่อวันเสาร์ (23) โดยประธานาธิบดีเต็งเส็ง ได้รับรองกฎหมายเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา
ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถสำรวจพื้นที่ของตัวเองเพื่อพิจารณาตรวจสอบหากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความสมดุลอันเนื่องจากจำนวนผู้อพยพในพื้นที่มีมาก อัตราการเติบโตของประชากรสูง และอัตราการเกิดสูง พวกเขาสามารถร้องต่อรัฐบาลส่วนกลางที่จะกำหนดกฎหมายบังคับใช้กับผู้หญิงให้เว้นระยะเวลาอย่างน้อย 36 เดือน หลังจากให้กำเนิดบุตรก่อนที่จะตั้งครรภ์คนถัดไป
ฮิวแมนไรท์วอช (HRW) ระบุว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้มีเป้าหมายชัดเจนที่ชาวโรฮิงญาซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ที่คนเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับของทางการในฐานะพลเมือง และถูกเรียกว่าเบงกาลี หรือผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
“สิ่งนี้จะยิ่งทำให้ความตึงเครียดทางศาสนา และชาติพันธุ์เลวร้ายลง เราคิดว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาในยะไข่ จะตกเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ของกฎหมายฉบับนี้” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ HRW ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุ
กฎหมายมีประกาศบังคับใช้แม้ว่าพม่ากำลังเผชิญต่อแรงกดดันของนานาประเทศต่อการจัดการการอพยพของชาวโรฮิงญาก็ตาม
การอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมากได้เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดความรุนแรงทางศาสนาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2555 ระหว่างชาวโรฮิงญา และชาวพุทธท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ความวิตกเกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนมากขึ้นของประชากรชาวมุสลิมถูกใช้เป็นประเด็นในการจุดชนวนความตึงเครียดระหว่างชุมชน
ในรายงานอย่างเป็นทางการหลังเหตุความไม่สงบในปี 2555 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 200 คน และไร้ที่อยู่อีก 140,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม คณะกรรมาธิการรัฐบาลระบุว่า ทางการควรส่งเสริมการวางแผนครอบครัวในชุมชนชาวโรฮิงญาเพื่อจำกัดการเติบโตของประชากร
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กระแสชาตินิยมชาวพุทธก่อตัวขึ้นในพม่ามากขึ้น และการใช้ความรุนแรงที่มีเป้าหมายเป็นชนกลุ่มน้อยมสุลิมได้เพิ่มความสงสัยต่อการปฏิรูปที่อวดอ้างไว้หลังการปกครองโดยทหารนานหลายทศวรรษ
เมื่อวันอาทิตย์ (24) สมาชิกรัฐสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี กล่าวว่า ไม่มีสมาชิกรัฐสภาของ NLD คนใดที่ลงมติเห็นชอบให้กฎหมายนี้ แต่โฆษกพรรคก็ยังไม่ออกมายืนยันในประเด็นดังกล่าว
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังต่อสู้ต่อการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์เรือจำนวนมากที่หลบหนีการกดขี่ และความยากจน ที่คาดว่ายังมีผู้อพยพราว 2,000 คน ยังคงติดค้างอยู่กลางทะเลในอ่าวเบงกอล โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา จากยะไข่ แต่ก็มีชาวบังกลาเทศที่พยายามที่จะหนีความยกจนเป็นส่วนหนึ่งของผู้อพยพทางเรือเหล่านี้ด้วย.