xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีมาเลย์-อินโดฯ-สหรัฐฯ เข้าพม่าวันนี้ ถกแก้ปัญหาผู้อพยพทางเรือครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#00003>หญิงชาวมุสลิมโรฮิงยากับลูกๆ ร้องไห้หลังได้รับการช่วยเหลือ เดินทางถึงแหล่งพักพิงชั่วคราวแห่งหนึ่ง ใน จ.อาเจ๊ะ อินโดนีเซีย วันพุธที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่มีการคลี่คลายของสถานการณ์หลายอย่าง หลังการพบหารือทางการทูตระหว่างไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย ในวันนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของสองชาติหลัง เดินทางเข้ากรุงเนปีดอ เพื่อหารือกับฝ่ายพม่า มีรัฐมนตรีรช่วยว่าการจากสหรัฐไปด้วยอีกคนหนึ่ง เพื่อหาทางแก้ปัญหาขั้นต่อไป. -- Associated Press/Binsar Bakkara.</b>

เอเอฟพี - พม่าจะเข้าร่วมการหารือเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของผู้อพยพเป็นจำนวนมากจากชายฝั่งประเทศตนเองเป็นครั้งแรกในวันนี้ (21) กับสหรัฐฯ และชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในความหวังที่จะทำให้สถานการณ์วิกฤตผู้อพยพยคนหลายพันคนซึ่งติดอยู่กลางทะเลนั้นคลี่คลาย

อานิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย และเรทโน่ มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย จะเดินทางเยือนกรุงเนปีดอ หลังทั้ง 2 ประเทศประกาศว่าจะยุตินโยบายที่ถูกตำหนิอย่างมากในการผลักดันเรือผู้อพยพยออกจากชายฝั่งประเทศ

แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะพบหารือกับเจ้าหน้าที่พม่าเช่นกัน เมื่อสหรัฐฯ ระบุว่า พร้อมที่จะรับผู้อพยพยบางส่วน

บลิงเคน กล่าวว่า เขาจะหารือในประเด็นการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลพม่าต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่ถูกตำหนิอย่างกว้างขวางว่าเป็นชนวนเหตุของวิกฤต

“เราจะพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับความรับผิดชอบของพวกเขาในการปรับปรุงสภาพเงื่อนไขในรัฐยะไข่ เพื่อที่ผู้คนจะไม่ต้องรู้สึกว่าทางเลือกเดียวที่มีคือ เสี่ยงชีวิตออกไปในทะเล” บลิงเคน กล่าวระหว่างแวะพักในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันพุธ (20)

ด้านรัฐบาลพม่า ยังคงย้ำการปฏิเสธที่จะยอมรับโรฮิงญาว่าเป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยของประเทศ และยืนยันว่า คนเหล่านี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

“หากพวกเขากำลังจะหารือเกี่ยวกับโรฮิงญา อย่างที่เราเคยบอกก่อนหน้า เราไม่ยอมรับคำจำกัดความนั้นที่นี่” ซอ เต ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีพม่า กล่าว แต่ยืนยันว่า พม่าจะเข้าร่วมการประชุมภูมิภาคเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 พ.ค. หลังรัฐบาลมีอ่อนท่าทีลงด้วยการเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

มุสลิมโรฮิงญาเดินทางหลบหนีกันเป็นจำนวนหลายพันคนในแต่ละปี แต่จำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากความรุนแรงทางศาสนา กับชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของพม่า

วิกฤตด้านมนุษยธรรมได้ปรากฏขึ้นเมื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ปฏิเสธที่จะรับเรือซึ่งเต็มไปด้วยผู้อพยพชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศขึ้นฝั่ง แต่มาเลเซีย และอินโดนีเซียนั้นได้ประกาศหลังการหารือในเมืองหลวงของมาเลเซียว่า ชาติของตนจะรับ และดูแลผู้อพยพทางเรือเป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าคนเหล่านั้นจะสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือเดินทางกลับประเทศต้นทางด้วยความช่วยเหลือของหน่วยงานระหว่างประเทศ

ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่เข้าร่วมประชุมในวันพุธ (20) ด้วยนั้น ไม่ได้ร่วมในข้อเสนอให้ความช่วยเหลือดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้กล่าวในภายหลังว่าจะไม่ผลักดันเรือผู้อพยพที่ติดอยูในน่านน้ำไทยอีก

ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา มีผู้อพยพเกือบ 3,000 คน ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง หรือได้รับความช่วยเหลือจาก 3 ประเทศ หลังทางการไทยปราบปรามขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าผู้ค้ามนุษย์ได้ลอยแพเหยื่อกลางทะเลในสภาพที่ขาดอาหาร และน้ำ

อานิฟาห์ กล่าวว่า หน่วยข่าวกรองของมาเลเซียคาดการณ์ว่า มีคนราว 7,000 คน ยังคงลอยเรืออยู่ในอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน

ด้านสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และแกมเบียในแอฟริกา ได้เสนอความช่วยเหลือ หรือการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวโรฮิงญา ซึ่งทำให้นึกถึงการตอบรับผู้คนหลายแสนคนจากเวียดนามในช่วงปลายทศวรรษ 1970 หลายชาติเสนอความช่วยเหลือ หรือการตั้งถิ่นฐานระยะยาวให้แก่ผู้ลี้ภัยหลังสงครามเวียดนาม ที่ส่วนใหญ่เดินทางไปสหรัฐฯ

“สหรัฐฯ พร้อมที่จะช่วยประเทศต่างๆ ของภูมิภาคที่รับภาระ และช่วยชีวิตในวันนี้ เรามีพันธะสัญญาร่วมกันที่จะตอบรับเสียงร้องขอของผู้อพยพยเหล่านี้ที่เสี่ยงชีวิตอยู่กลางทะเล” มารี ฮาร์ฟ โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตัน

สหรัฐฯ จะช่วยสหประชาชาติตั้งศูนย์คุ้มครอง และจะพิจารณาการร้องขอตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัยบางส่วน.
กำลังโหลดความคิดเห็น