เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ยอมรับวันนี้ (25 พ.ค.) ว่ารู้สึก “กังวลอย่างยิ่ง” หลังมีการพบหลุมฝังศพหมู่กว่า 100 หลุมในรัฐปะลิสใกล้ชายแดนไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นศพชาวมุสลิมโรฮีนจาและบังกลาเทศที่เดินทางมากับเครือข่ายค้ามนุษย์ พร้อมทั้งประกาศจะหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้
ผู้นำแดนเสือเหลืองโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์วันนี้ (25) ว่า “ผมรู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อข่าวการพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่บนแผ่นดินมาเลเซีย ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์... เราจะต้องหาตัวผู้รับผิดชอบ”
คอลิด อบูบาการ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย เผยต่อสื่อมวลชนวันนี้ (25) ว่า มีการพบหลุมฝังศพทั้งสิ้น 139 หลุม และค่ายกักกันชาวโรฮีนจาอีก 28 แห่ง ใกล้ชายแดนตอนเหนือของสุดของประเทศ ซึ่งถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในมาเลเซีย นับตั้งแต่วิกฤตผู้อพยพทางเรือทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนนี้
“เจ้าหน้าที่พบหลุมฝังศพ 139 หลุม แต่ยังไม่มั่นใจว่าภายในหลุมเหล่านี้จะมีศพอยู่มากน้อยเท่าใด” คอลิด ให้สัมภาษณ์ พร้อมเสริมว่า ค่ายกักกันที่มีขนาดใหญ่สุดนั้นสามารถรองรับคนได้ถึง 300 คน ส่วนอีกแห่งที่ขนาดรองลงมาสามารถรับคนได้ราว 100 คน นอกนั้นเป็นค่ายขนาดเล็กที่รับผู้อพยพได้แห่งละประมาณ 20 คน
จากขนาดของค่ายกักกันที่พบทั้ง 28 แห่ง บ่งชี้ว่าอาจจะมีผู้อพยพอยู่รวมกันหลายร้อยชีวิต
เมื่อต้นเดือนนี้ ตำรวจไทยก็เพิ่งจะค้นเจอค่ายกักกันชาวโรฮีนจาใกล้ชายแดนมาเลเซีย และสุสานที่ฝังเอาไว้ตื้นๆ อีกหลายสิบหลุม ซึ่งขณะนั้นทางมาเลเซียยืนยันว่า ไม่มีสถานที่ลักษณะนี้อยู่บนแผ่นดินเสือเหลืองอย่างแน่นอน
คอลิดระบุว่า ค่ายกักกันและหลุมฝังศพซุกซ่อนอยู่ในป่าทึบบนเทือกเขาสูงซึ่งสามารถเข้าถึงได้ยาก และปฏิเสธที่จะให้ความเห็น เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเครือข่ายค่ายกักกันเหล่านี้รอดพ้นสายตาทางการไปได้อย่างไร และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
เขาเผยด้วยว่า ศพหนึ่งที่พบอยู่ในสภาพ “เน่าเปื่อยเต็มที” ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็กำลังเร่งเก็บกู้ขึ้นมาเพื่อตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์
ว่ากันว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่เครือข่ายค้ามนุษย์ใช้ในการลำเลียงผู้อพยพจากบังกลาเทศและพม่าเข้าไปยังมาเลเซีย หรือส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ที่ไกลออกไป
การค้นพบแคมป์และหลุมศพหมู่โรฮีนจาบนเทือกเขาแก้วส่งผลให้รัฐบาลไทยมีมาตรการปราบปรามเครือข่ายค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้นายหน้าค้ามนุษย์จำนวนหนึ่งตัดสินใจทิ้งผู้อพยพเอาไว้กลางทะเล กลายเป็นภาระต่อทางการไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ต้องเข้าช่วยเหลือผู้คนจำนวนนับพันๆ ที่ติดค้างอยู่บนเรือในสภาพหิวโหย
ในช่วงแรกรัฐบาลมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ใช้นโยบายผลักดันเรือผู้อพยพออกนอกน่านน้ำเช่นเดียวกับไทย แต่แล้วก็ถูกนานาชาติกดดันให้ต้องยอมรับผู้อพยพขึ้นฝั่ง เพื่อรอส่งต่อไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่นๆ