บีบีซี - สื่อต่างประเทศรายงานเจ้าหน้าที่ของพม่าแย้มว่า พวกเขาจะเข้าร่วมการประชุมฉุกเฉินที่ไทยในสัปดาห์หน้า หลังโฆษกประธานาธิบดียันพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลทุกชาติเพื่อจัดการกับวิกฤตผู้อพยพที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมาการเข้าร่วมประชุมฉุกเฉินระดับภูมิภาคในวันที่ 29 พฤษภาคมของพม่าตกอยู่ท่ามกลางความสงสัยมาตลอด แม้ถูกกดดันทางการทูตอย่างหนักหน่วง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดแม้ยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ แต่ จิลล์ แม็คกีฟวิง นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกของสำนักข่าวบีบีซีบอกว่าข้อเท็จจริงที่พวกเขาจะเข้าร่วมเริ่มเห็นชัดมากขึ้น
“เราพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลชาติต่างๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่ผ่านการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์และบนพื้นฐานของมนุษยธรรม” บีบีซีอ้างคำแถลงของนายซอ ฮเตย์ โฆษกประธานาธิบดีพม่า
โฆษกรายนี้บอกว่า การตัดสินมีขึ้นภายหลังได้รับหนังสือเชิญจากไทยแล้ว พร้อมย้ำพม่าไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตดังกล่าว โดยที่เขาไม่ใช้คำว่าโรฮีนจา เพราะรัฐบาลพม่าไม่เคยรับรองสิทธิ์ชาติพันธุ์นี้ว่าเป็นประชาชนชาวพม่า
เจ้าหน้าที่พม่าอ้างถึงกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ชาวเบงกาลีส่อนัยว่าพวกเขาเหล่านี้คือผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าจำนวนมากจะอาศัยอยู่ในประเทศแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน
ผู้อพยพส่วนมากเป็นชาวมุสลิมโรฮีนจาที่หลบหนีหารตามประหัตประหารในพม่า และชาวบังกลาเทศที่ผละหนีความยากแค้นภายในประเทศบ้านเกิด
ในขณะที่ผู้อพยพหลายพันคนยังติดค้างอยู่กลางทะเล มาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยผลักดันผู้อพยพเหล่านั้นให้หันหัวเรือกลับ เวลานี้ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นพยายามช่วยเหลือพวกเขาแล้ว โดยในวันพฤหัสบดี (21 พ.ค.) เรือของกองทัพเรือแดนเสือเหลือง 4 ลำ ได้เริ่มปฏิบัติการกู้ภัยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในทะเลอันดามัน เพื่อค้นหาเรือที่ตกค้าง นอกจากนี้แล้วยังมีเรือรบของอินโดนีเซียอีกหลายลำที่ลาดตระเวนในแถบพื้นที่ดังกล่าว
ปัจจุบันเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ด้านการทูตระดับสูงของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในประเทศพม่าเพื่อหารือถึงวิกฤตดังกล่าว หลังจากเมื่อวันพุธ (20 พ.ค.) ทั้งกัวลาลัมเปอร์และจาการ์ตา เห็นพ้องให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่พวกผู้อพยพที่ขึ้นฝั่งของตนเอง แต่ก็เรียกร้องประชาคมนานาชาติช่วยหาที่ตั้งรกรากใหม่แก่พวกเขา
ส่วนไทยระบุว่า จะยุติการลากจูงเรือกลับสู่ทะเลและจะอนุญาตให้คนป่วยขึ้นฝั่งเพื่อรับการรักษา แต่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงจัดหาที่พักพิงใดๆ โดยบอกว่าพวกเขากำลังเผชิญปัญหาในการรับมือกับผู้อพยพหลายหมื่นคนจากพม่าอยู่ก่อนแล้ว