รอยเตอร์ - กองทัพเรือพม่าเข้าคุ้มกันเรือที่อัดแน่นไปด้วยผู้อพยพ 727 คน มุ่งหน้าไปยังสถานที่ปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบระบุสัญชาติก่อนดำเนินการในขั้นต่อไป รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่าเผยวันนี้ (2)
ในการแก้ไขความคิดเห็นก่อนหน้าที่ว่ากองทัพเรือได้นำเรือประมงไปยังน่านน้ำของบังกลาเทศนั้น เย ตุ๊ต รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่าระบุว่า ผู้อพยพกำลังมุ่งหน้าไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผยแต่เป็นพื้นที่ปลอดภัย และได้รับอาหารและน้ำ
“การดำเนินการได้เริ่มขึ้นแล้ว พวกเขาจะถูกพาไปยังปลายทางที่ปลอดภัย” เย ตุ๊ต กล่าวต่อรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ แต่ไม่ได้เปิดเผยสถานที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และความปลอดภัย
ผู้อพยพถูกพบอยู่กลางทะเลอันดามันเมื่อวันศุกร์ (29) ในเรือประมงที่แออัด กลุ่มคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้อพยพประมาณ 2,000 คน ที่สหประชาชาติระบุว่า ยังคงติดอยู่กลางทะเลหลังนักค้ามนุษย์ปล่อยทิ้ง หลังทางการไทยเข้าปราบปรามการค้ามนุษย์เมื่อเดือนก่อน
รัฐบาลพม่าตีตราผู้อพยพที่พบว่า เป็นชาวเบงกาลี คำที่ใช้อ้างถึงทั้งชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไร้รัฐราว 1.1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของพม่า โดยรัฐบาลพม่านั้นปฏิเสธที่จะใช้คำว่าโรฮิงญา และยืนยันว่าส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
การอพยพของชาวโรฮิงญาเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับพม่า ที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของนานาชาติที่ต้องการให้พม่ามอบสิทธิความเป็นพลเมืองให้แก่ชาวโรฮิงญา
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าววานนี้ (1) ว่า พม่าจำเป็นที่จะต้องยุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเพื่อที่จะทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ
เจ้าหน้าที่กองทัพเรือที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อกล่าวต่อรอยเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ (31) ว่า ผู้อพยพบางคนที่อยู่บนเรือประมงพูดภาษาที่ใช้ในรัฐยะไข่ได้
สก็อต บัสบี้ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศกิจการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงานของสหรัฐฯ แสดงความยินดีต่อข้อตกลงในกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องต่อการจัดการต่อต้นตอของปัญหาการอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่ระบุว่า พม่าควรเริ่มให้สิทธิความเป็นพลเมืองต่อชาวโรฮิงญา
“หลายคนอยู่ที่นั่นมายาวนาน พวกเขาจำเป็นต้องได้สิทธิพลเมือง” สก็อต บัสบี้ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกัมพูชา.