เอเอฟพี - กองทัพเรือพม่าปฏิเสธวันนี้ (31) ที่จะให้นักข่าวเข้าไปใกล้กับเกาะที่มีผู้อพยพมากกว่า 700 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ หลังได้รับการช่วยเหลือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวได้พยายามที่จะเข้าไปที่เกาะ Thamee Hla บริเวณปากแม่น้ำอิรวดี นับตั้งแต่ทางการประกาศว่า พบผู้อพยพ 727 คน ที่รวมทั้งผู้หญิง 74 คน และเด็ก 45 คน ลอยเรืออยู่นอกชายฝั่งพม่า และถูกนำตัวไปไว้ที่เกาะดังกล่าว
ผู้อพยพกว่า 700 คนนี้เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นการอพยพของชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หนีการกดขี่ และชาวบังกลาเทศที่หนีความยากจนที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นวิกฤตที่ชาติต่างๆ พยายามหาทางจะจัดการต่อปัญหานี้
นักข่าวที่พยายามจะใช้เรือเล็กออกไปยังเกาะ Thamee Hla ถูกเรือลาดตระเวนของทหารเรือบังคับให้หันเรือกลับและสั่งให้ลบภาพถ่ายทั้งหมดออกจากเมมโมรีการ์ด ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีที่อยู่บนเกาะไฮ่จ์จี้ (Haigyi) ซึ่งอยู่ใกล้กัน ระบุ
ผู้ที่เดินทางกลับมากล่าวว่า พวกเขาถูกสั่งให้ลงชื่อในเอกสารสัญญาว่าจะไม่พยายามเดินทางไปอีก แต่กองทัพเรือไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อรายงานเรื่องนี้ในวันนี้
เรือผู้อพยพเป็นประเด็นอ่อนไหวในพม่า และเรือ 2 ลำที่อัดแน่นไปด้วยผู้อพยพที่ทางการพม่าพบในช่วงไม่กี่สัปดาห์ถูกยื้อไปมาระหว่างบังกลาเทศ และพม่าว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผู้อพยพที่พบในอ่าวเบงกอล
พม่าปฏิเสธที่จะยอมรับชาวโรฮิงญา 1.3 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ว่าเป็นพลเมืองของประเทศ และใช้คำว่าเบงกาลีเรียกคนกลุ่มนี้ ในความหมายว่า เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ชาวโรฮิงญาเผชิญต่อการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการควบคุมความเคลื่อนไหว ขนาดของครอบครัว และการหางาน ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนเลือกที่จะหลบหนีไปต่างประเทศ ที่ปลายทางมักเป็นมาเลเซีย และผู้อพยพเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากหลังปี 2555 ที่เกิดเหตุความรุนแรงนองเลือดในรัฐยะไข่
พม่าปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาของพม่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอพยพของผู้คน
เมื่อวันเสาร์ (30) เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากเกาะไฮ่จ์จี้ กล่าวว่า ผู้อพยพทั้งหมดเป็นชาวบังกลาเทศ และจะถูกนำตัวไปยังพื้นที่ใกล้กับพรมแดนบังกลาเทศในรัฐยะไข่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ขณะที่ฝ่ายบังกลาเทศยืนยันว่า จะไม่รับผู้อพยพที่ตรวจสอบพบว่ามีแหล่งกำเนิดที่พม่า
แต่เพราะทางการพม่าปฏิเสธที่จะใช้คำว่าโรฮิงญา จึงเป็นการยากที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้อพยพเหล่านี้มาจากที่ใด ไม่มีสื่อ หรือกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์กลุ่มใดสามารถเข้าไปพบหารือกับผู้อพยพที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนเกาะ Thamee Hla ที่จะระบุว่า คนเหล่านี้บอกว่าตัวเองมาจากที่ใด.