รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลพม่าต้องปฏิบัติต่อชนกลุม่น้อยมุสลิมโรฮิงญาในฐานะพลเมืองเพื่อแก้ไขต้นตอของวิกฤตผู้อพยพยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรียกร้องให้ผู้นำพม่าทุกคนพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้พยายามที่จะทำให้การเปลี่ยนไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของพม่าเป็นผลงานของการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของตนเอง และวอชิงตันได้เพิ่มแรงกดดันต่อพม่าในการจัดการต่อสิ่งที่สหรัฐฯ มองว่า เป็นต้นเหตุของการอพยพของมนุษย์เรือข้ามอ่าวเบงกอลเป็นจำนวนมากที่ภูมิภาคกำลังรับมือต่อปัญหานี้
ผู้อพยจำนวนมากจากกว่า 4,000 คน ที่ขึ้นฝั่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และพม่า นับตั้งแต่รัฐบาลไทยดำเนินการปราบปรามขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ เป็นชาวโรฮิงญาที่ระบุว่า หลบหนีการกดขี่ข่มเหง
พม่าไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา 1.1 ล้านคน เป็นพลเมืองของประเทศ ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้เป็นคนไร้รัฐ หลายคนได้หลบหนีสภาพที่เหมือนกับการถูกแบ่งแยกเชื้อชาติในรัฐยะไข่ ซึ่งพม่าได้ปฏิเสธว่า เลือกปฏิบัติต่อคนเหล่านี้
“โรฮิงญาจำเป็นที่จะต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะพลเมืองของพม่า พวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีบัตรประชาชน และหนังสือเดินทางที่ทำให้ชัดเจนว่า พวกเขาเป็นพลเมืองของพม่ามากเท่ากับคนอื่นๆ” แอนน์ ริชาร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวในกรุงจาการ์ตา
โอบามา กล่าวเมื่อวันจันทร์ (1) ว่า พม่าจำเป็นต้องยุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาหากพม่าต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย
นักการเมืองในพม่ากำลังมุ่งความสนใจไปที่การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. ที่ขัดขวางการหารือทางการเมืองเกี่ยวกับสถานะของโรฮิงญา
ภาพของผู้คนที่สิ้นหวังเบียดเสียดกันอยู่บนเรือในสภาพที่อาหาร และน้ำเหลือเพียงเล็กน้อย ดึงความสนใจของนานาประเทศต่อวิกฤตผู้อพยพที่เกิดขึ้นล่าสุดในภูมิภาค ซึ่งปรากฏขึ้นเมื่อเดือนก่อนหลังการปราบปรามของไทย ที่ส่งผลให้นักค้ามนุษย์ไม่กล้าเสี่ยงส่งตัวผู้อพยพเหล่านี้ขึ้นฝั่งและเลือกที่จะปล่อยไว้กลางทะเลแทน
ริชาร์ด กล่าวว่า ต้องการที่จะเห็นผู้นำทางการเมืองของพม่าทุกคนจัดการต่อประเด็นปัญหานี้ และนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ต้องเผชิญต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์สำหรับความล้มเหลวที่จะพูดออกมาในนามของกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากของพม่า ที่รวมทั้งชาวโรฮิงญา
“เราต้องการที่จะเห็นผู้นำพม่าทุกคนพูดถึงสิทธิมนุษยชน และตระหนักว่า พวกเขาควรช่วยโรฮิงญา เรือเหล่านี้ไม่สามารถรอจนถึงเดือน ธ.ค.ได้ คนบนเรือจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือตอนนี้” ริชาร์ด กล่าว
ในการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพในกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน พม่าไม่พอใจสหรัฐฯ ที่ยกประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง และเมื่อผู้แทนประเทศอื่นๆ กล่าวโทษพม่าต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนี้
ริชาร์ด กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ได้พิจารณากำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าจากปัญหานี้ แต่ว่าการมาตรการลงโทษก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการทูต
โอบามา ได้ลงทุนความพยายามส่วนบุคคลอย่างมีนัยสำคัญ และส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่าที่หลุดพ้นจากการปกครองของทหารนาน 49 ปี ในปี 2553 ด้วยการเดินทางไปพม่า 2 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในบันทึกต่อสภาคองเกรสเดือนก่อนว่า วอชิงตันจะรักษามาตรการคว่ำบาตรบางอย่างต่อพม่าเอาไว้
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรากำลังทำงานกับพม่าที่อยู่บนเส้นทางการเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบยิ่งขึ้นของประชาคมโลก” ริชาร์ด กล่าว
ริชาร์ด ได้เข้าร่วมการหารือที่ไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน และได้รับเชิญไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่เธอได้พบกับผู้อพยพบางส่วนที่ขึ้นฝั่ง เธอกล่าวว่า เธอได้เห็นบางส่วนของสิ่งที่ดีที่สุด และเลวร้ายที่สุดของมนุษย์ระหว่างวิกฤต
ริชาร์ด กล่าวว่า เธอหวังให้พม่านำเรือที่มีผู้อพยพกว่า 700 คน ขึ้นฝั่งในวันนี้ (3) ซึ่งกองทัพเรือพม่าเข้าสกัดเรือได้เมื่อวันศุกร์ แต่ยังคงควบคุมเรือลำดังกล่าวอยู่นอกชายฝั่งตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนผู้คนบนเรือที่เป็นชาวบังกลาเทศจะถูกส่งกลับไปบังกลาเทศโดยเร็ว
โทมัส วาร์กาส ผู้แทน UNHCR ประจำอินโดนีเซีย กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวเดียวกันนี้ว่า มีชาวบังกลาเทศประมาณ 800 คน จากผู้อพยพมากกว่า 1,800 คน ที่ขึ้นฝั่งอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ในเดือน พ.ค. และสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่า ยังมีผู้คนประมาณ 2,000 คน ติดอยู่กลางทะเล และสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในวิกฤต และหน่วยงานระหว่างประเทศคือ การช่วยชีวิตคน.