ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พิธีสวนสนามฉลองครบรอบปีที่ 60 การก่อตั้งเหล่าปืนใหญ่ของกองทัพประชาชนลาว ที่จัดขึ้นตอนเช้าวันจันทร์ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดเผยให้เห็นเป็นครั้งแรก ทหารกองทัพลาวถือปืนไรเฟิลแบบบูลพับ (Bull-pub) เป็นปืนเล็กยาวโจมตีกึ่งอัตโนมัติที่ผลิตในจีน แทนแบบ 56 (Type 56) ที่เคยเห็นเมื่อครั้งสวนสนามครบรอบปีที่ 65 การก่อตั้งกองทัพ ที่จัดขึ้นประจำทุกปีก่อนหน้านี้ รวมทั้งในเดือน ม.ค.ปีนี้ด้วย
ปืนแบบ 56 แบบพับฐานสภาพใหม่เอี่ยม ที่ทหารกองทัพประชาชนลาวถือในวันสวนสนามเมื่อต้นปีก็คือ “อาก้า” หรือ AK-47 ของรัสเซีย ที่จีนลอกเลียนแบบเอาไปผลิตเป็นปืนของตนนั่นเอง
ปรากฏในภาพสวนสนามวันจันทร์ที่ผ่านมา เข้าใจว่าจะเป็นไรเฟิลบูลพับ แบบ 97 หรือ Type 97 หรือ QBZ97 ซึ่งจีนพัฒนาต่อจากซีรีส์ QBZ95 ที่เลิกผลิตไปแล้ว เป็นปืนเล็กยาวที่ใช้กระสุนขนาด 5.8x42 มม. หลายปีมานี้ จีนจำหน่ายให้แก่หลายประเทศในเอเชีย และแอฟริกา รวมทั้งมีใช้ในกองทัพราชอาณาจักรกัมพูชาด้วยเช่นเดียวกัน
หลายปีมานี้จีนได้เป็นผู้สนับสนุนอาวุธรายใหญ่ให้แก่กองทัพประชาชนลาว ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้อาวุธที่ได้รับการช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ซึ่งมีทั้ง AK-47, AK-74 กับ AKM และเวอร์ชันอื่นๆ ของ “อาก้า” อีกจำนวนหนึ่ง แต่ทั้งหมดได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา และตามสภาพการใช้งานที่กรำศึกมาหลายครั้งในช่วงสงครามเวียดนามที่ลุกลามเข้าสู่ดินแดนลาว และสงครามการปราบปรามกองทัพชนชาติม้งของนายพลวังปาว ที่สหรัฐฯ ให้การหนุนหลัง
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว การสวนสนามฉลองครบรอบ 60 ปี ของเหล่าทหารปืนใหญ่ จัดขึ้นที่สนามของวิทยาลัยทหารบกกมมะดำ ชานนครเวียงจันทน์ โดย พล.ต.สุวอน เลืองบุนมี กรรมการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ และหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพ เข้าร่วมเป็นเกียรติ พร้อมทั้งบรรดาผู้แทนจากกรมใหญ่ กรมน้อย กรม กอง เหล่า และหน่วยงานต่างๆ อีกจำนวนมาก
เหล่าปืนใหญ่ หรือเหล่าปืนใหญ่หน้าดิน ของกองทัพประชาชนลาว ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ปี ค.ศ.1954 เมื่อแรกเริ่มนั้นเป็นกองพันทหารปืนใหญ่หมายเลข 605 นั่นคือในช่วงปีแห่งสงครามเพื่อเอกราชจากฝรั่งเศส เป็นหน่วยรบทำหน้าที่คุ้มกัน 2 แขวงฐานที่มั่นของลาวฝ่ายต่อต้านเมื่อก่อน ซึ่งก็คือ แขวงผ่งสาลี กับแขวงหัวพัน
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ ทหารปืนใหญ่หน้าดินได้เข้าสนับสนุนการต่อสู้ของหน่วยรบอื่นๆ ในเหตุการณ์ 3 หมู่บ้าน (ชายแดนไซยะบูลี-อุตรดิตถ์) และเหตุการณ์ที่เมืองบ่อแตน (ไซยะบูลี-พิษณุโลก) ด้วย.
.
2