ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีวี่แววใดๆ ล่วงหน้ามาก่อน จู่ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการลาวก็ได้ประกาศการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้มาเป็นเวลา 11 ปี คณะกรรมการที่ประธานสภาแห่งชาติเป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้นัดแรกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่แล้ว และกระบวนการแก้ไขจะเริ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ สื่อของทางการรายงานในสัปดาห์นี้โดยไม่ให้รายละเอียดอื่นใดอีก
ดำรัสของประธานประเทศฉบับหนึ่งที่ลงนามโดย พล.ท.จูมมิลี ไซยะสอน ลงวันที่ 18 ส.ค.2557 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2546 ขึ้นมา โดยมีนางปานี ยาทอตู่ กรมการเมืองและประธานสภาแห่งชาติเป็นประธาน ประกอบด้วยรองประธาน 2 คน คือ พล.ต.อาซาง ลาวลี กรมการเมืองและรองนายกรัฐมนตรี กับนายสมพัน แพงคำมี รองประธานสภาฯ
นอกจากนั้่น ยังแต่งตั้งกรรมการอีก 14 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นประธานองค์การจัดตั้งมหาชน และรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประธานองค์การเทียบเท่ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง และหัวหน้าคณะกรรมาธิการสภาแห่งชาติอีกจำนวนหนึ่งด้วย
ดำรัสของประธานประเทศได้กำหนดให้คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว “ชี้นำ ค้นคว้า ปรับปรุงบางหมวด และบางมาตรา เพื่อจัดทำร่างปรับปรุงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2546” รวมทั้งให้ “ชี้นำการจัดการประชุมสัมนาวิทยาศาสตร์ และการทาบทามความคิดเห็นของประชาชน และชั้นคนต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงใหม่” และนำร่างดังกล่าวเสนอต่อสภาแห่งชาติเพื่อประชุมพิจารณา
ดำรัสของประธานประเทศที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ “ประชาชน” รายวันของศูนย์กลางพรรค ฉบับวันที่ 22 ส.ค.2557 ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ อีกเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะทำการแก้ไข ตลอดจน “บางหมวด” และ “บางมาตรา” ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดทำร่างปรับปรุงแก้ไขที่กล่าวถึง
หลายปีมานี้ ได้มีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบอบการเมืองการปกครองของประเทศผ่านประชาคมออนไลน์ต่างๆ อย่างแพร่หลาย ที่โดดเด่น และมีสีสันมากที่สุด เป็นการเรียกร้องของ ดร.คำเผย ปานมาไลทอง เมื่อปี 2554 ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าสถาบันการเมืองการปกครองแห่งชาติ การเรียกร้องดังกล่าวทำให้เจ้าตัวถูก “ปลดเงียบ” พ้นจากตำแหน่งสำคัญนี้
.
.
ระหว่างการอภิปรายในสภาฯ นัดหนึ่ง ดร.คำเผย ซึ่งเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรค และยังเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติเขตเลือกตั้งที่ 1 นครเวียงจันทน์ ได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มี “ระบอบการเมืองหลายพรรค” คลิปการอภิปรายที่ถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติความยาวกว่า 8 นาที ที่มีผู้่นำขึ้นเผยแพร่ในยูทิวบ์แสดงให้เห็นบรรยากาศอันเคร่งขรึมในห้องประชุม ขณะที่นายไซสมพอน พมวิหาน รองประธานสภาฯ ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุม พยายามตัดบท และเร่งเร้าให้ผู้อภิปรายรีบสรุป
มีชาวลาวที่อาศัยทำกินในต่างแดนเข้าไปชมคลิปชิ้นอื้อฉาวนี้จำนวนหลายหมื่นครั้ง และยังคงมีการพูดถึงเรื่องนี้ต่อๆ มา
ดุษฎีบัณฑิตที่ได้เห็นอดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา ได้กลับคืนประเทศ และเข้าสู่การเมืองระดับชาติ เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ชาวเมืองหลวงได้เทคะแนนให้จนมาเป็นอันดับ 1 มากกว่า ดร.กิแก้ว ไขคำพิทูน หัวคณะกรรมการโฆษณาอบรมศูนย์กลางพรรคคนปัจจุบัน ที่ลงสมัครเขตเดียวกัน
แม้จะพ้นจากตำแหน่งผู้นำสถาบันสำคัญของรัฐแล้วก็ตาม ปัจจุบัน ดร.คำเผย ยังมีสถานภาพเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ แม้ว่าจะไม่ได้อภิปราย หรือวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของลาวอย่างเปิดเผยอีก
หลายปีมานี้ ถึงแม้ว่าในระดับรัฐบาลจะเคยมีการพูดถึง “การขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน” อยู่บ้างก็ตาม แต่ยังไม่เคยมีผู้ใดพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง และไม่มีใครเชื่อว่าคอมมิวนิสต์ลาวจะเปิดโอกาสให้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองอื่นขึ้นมาเป็นคู่แข่งในการเมืองของประเทศ.