.
กรุงเทพฯ (เอเอฟพี) - องค์การสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งได้กล่าวหาว่า ทหารท้องถิ่นของรัฐบาลพม่าได้สังหารชาวมุสลิม และยังจู่โจมทำร้ายผู้ที่พยายามหลบหนีจากเหตุความรุนแรงทางศาสนาในรัฐระไค (ยะไข่ -- บก.) ทางภาคตะวันตกเมื่อเดือนที่แล้ว
กองกำลังทหารท้องถิ่นได้สังหารชาวมุสลิมกะมัน (Kaman) ในเมืองจ๊อกพะยู (Kyaukpyu) โดยที่ทหารรัฐบาล “เฝ้ายืนดูอยู่เฉยๆ” ทั้งนี้ เป็นรายงานขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์ก
ขณะเดียวกัน ทหารจากกองกำลังรักษาชายแดนยังได้ “ทุบตีอย่างรุนแรง” ชาวมุสลิมโรฮิงญาพลัดถิ่นหลายสิบคนที่หลบหนีจากหมู่บ้านที่เกิดจลาจลรุนแรงโดยทางเรือไปยังใกล้กับเมืองสิตตเว (Sittwe) เมืองเอกของรัฐระไค (Rakhine) องค์การ HRW ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในบางจุดกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้เข้าไปให้การคุ้มครองชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยยิงปืนขึ้นฟ้าขับไล่กลุ่มชนชาวพุทธพม่า และยังได้ให้น้ำดื่มกับอาหารแก่พวกเขาอีกด้วย HRW กล่าว
การปะทะรุนแรงครั้งใหญ่ 2 ครั้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในรัฐระไคนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 180 คน กว่า 11,000 คน ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อาศัย คนพลัดถิ่นส่วนใหญ่เป็นมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมานานหลายทศวรรษ
องค์การสิทธิมนุษยชนนี้ยังเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นบ้านเรือน และทรัพย์สินที่เสียหายอย่างหนักใน 3 พื้นที่ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาเคยอาศัย รายงานยังระบุถึงการเข่นฆ่าที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งรวมทั้งการฆ่าตัดคอ และการสังหารเด็กกับสตรีด้วย
.
.
“ภาพถ่ายดาวเทียมกับคำให้การของผู้เห็นเหตุการณ์ได้เปิดเผยให้เห็นฝูงชนในท้องถิ่นซึ่งในหลายโอกาสได้รับการสนับสนุนจากทางการได้พยายามผลักดันให้ชาวโรงฮิงญาออกไปจากพื้นที่เหล่านี้ให้สำเร็จ” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำเอเชียของ HRW กล่าว
นายอดัมส์ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กดดันประเด็นนี้ต่อประธานาธิบดีเต็งเส่งนักปฏิรูป เมื่อไปเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ในวันจันทร์ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรอบด้านในประเทศซึ่งเคยเป็นที่น่ารังเกียจมาก่อน
“ไม่มีการตรวจสอบความรุนแรงอันร้ายแรงนี้ออกมาให้ปรากฏ เท่ากับให้ไฟเขียวแก่พวกสุดขั้วทำการโจมตี และการละเมิดของพวกเขาต่อไป” นายอดัมส์กล่าว
หลังจากความรุนแรงปะทะขึ้นช่วงแรกๆ ในเดือน มิ.ย. องค์การนี้ได้กล่าวหาว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ระดมยิงเข้าใส่ชาวโรฮิงญา ข่มขืน และยืนดูฝูงชนฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีกันและกัน
รัฐบาลพม่าเช่นเดียวกันกับชาวพม่าจำนวนไม่น้อยมองว่า ชาวมุสลิมในพม่าราว 800,000 คน เป็นพวกที่อพยพโยกย้ายไปจากบังกลาเทศ องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ในโลกนี้พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกรังควานมากที่สุด.