เอบีซี/เอเยนซี กลุ่มสิทธิมนุษยชนเผย จีนบังคับผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยคะฉิ่นอย่างน้อย 4,000 คน กลับเขตสู่รบในตอนเหนือของพม่า
สื่อออสเตรเลียรายงาน (7 ก.ย.) กลุ่ม Human Rights Watch ได้ยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ตำหนิการกระทำของจีนที่ใช้กำลังขับไล่ชาวคะฉิ่นเพื่อไม่ให้เป็นผู้ลี้ภัยในดินแดนตน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย
นายฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการกลุ่ม Human Rights Watch ประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “รัฐบาลพม่าขยายการโจมตีมากขึ้น พวกเราจึงกังวลว่า ชาวคะฉิ่นเหล่านี้กำลังถูกส่งตัวกลับไปยังพื้นที่ที่มีการสู้รบในพม่า ซึ่งมันไม่ปลอดภัยมาก”
ถึงแม้มีชาวคะฉิ่นหลายคนอาศัยอยู่ในจีนมาหลายปี แต่เจ้าหน้าที่จีนก็ไม่เปิดโอกาสโอกาสให้พวกเขารับความช่วยเหลือใดจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
“พวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองชั่วคราว เช่น สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน อาหาร เวชภัณฑ์ แต่ที่สำคัญคือพวกเขาควรจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ในความดูแลของ UNHCR” นายฟิลกล่าว
กลุ่ม Human Rights Watch ยังได้สัมภาษณ์ชาวคะฉิ่นหลายคน ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาต้องการที่ลี้ภัยจนกว่ามันจะปลอดภัยเมื่อกลับไปบ้านเกิด
“พวกเขาไม่ได้อยากอยู่ในจีนตลอดไป”
รัฐบาลพม่ายอมทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มรวมทั้งคะฉิ่น เป็นเวลายาวนานกว่า 17 ปี ในปีต่อมา (2554) ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีก เนื่องมาจากความไม่พอใจเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าที่จีนให้การสนับสนุนในพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายจึงเกิดการสู้รบขึ้นอีกครั้ง และแม้จะมีการจัดประชุมเพื่อยุติความรุนแรงหลายครั้งแล้วก็ล้มเหลว ทำให้ผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยคะฉิ่นหนีเข้ามาบริเวณชายแดนจีน-พม่า นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2554 เป็นต้นมา
รัฐคะฉิ่นอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า ชายแดนติดกับจีนและอินเดีย นอกจากนี้ ยังเต็มไปด้วยหยก ป่าไม้ แร่ธาตุและน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจีนปรารถนาอยากได้เป็นของตน โครงการเขื่อนใหญ่ๆ หลายแห่งสร้างในพื้นที่ เช่น เขื่อนไฟฟ้ามิตโสน (Myitsone)
รัฐบาลจีนไม่สามารถจัดหาที่หลบภัยชั่วคราวหรือความช่วยเหลือใดๆ ให้กับผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นราว 7,000 - 10,000 คนที่หนีหลบภัยมาที่มณฑลอวิ่นหนัน เมื่อเดือน นอกจากนี้ จีนยังปฏิเสธความช่วยเหลือจากสหประชาชาติและหน่วยงานด้านมนุษยชนระหว่างประเทศอีกด้วย ในขณะที่จีนกำลังเป็นคู่ค้าสำคัญกับพม่า ทว่ายังเกิดความระส่ำระสายในบริเวณชายแดนจีน-พม่า