xs
xsm
sm
md
lg

คดีสังหาร‘ทองนาค’และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในไทย

เผยแพร่:   โดย: มารวาน มาแคน-มาร์คาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Killers beyond justice
By Marwaan Macan-Markar
15/08/2011

การฆาตกรรมนายทองนาค เสวกจินดา มีการว่าจ้างด้วยจำนวนเงินสูงกว่าอัตราราคาตามปกติที่คิดกันอยู่ในประเทศไทย แต่มันก็ส่งผลหยุดชะงักการรณรงค์ต่อสู้ของเขาซึ่งมุ่งคัดค้านต่อต้านการขนส่งถ่านหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอย่างชนิดทำลายสิ่งแวดล้อม บุคคลผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือปืนสังหารรายหนึ่งได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ทว่าดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสืบสาวไปจนถึงผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ที่มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมตกเป็นเหยื่อ

สมุทรสาคร - ในประเทศที่อัตราราคาว่าจ้างฆ่าคนในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท (ราว 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ราคาที่ผู้ว่าจ้างจ่ายไปเพื่อให้กำจัด นายทองนาค เสวกจินดา นักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสมุทรสาคร จึงทำให้ตำรวจผู้ดูแลคดีรู้สึกประหลาดใจไม่ใช่น้อย

“เงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (300,000 บาท) ที่จ่ายกันเพื่อฆ่านายทองนาค จัดว่าเยอะมากทีเดียวสำหรับประเทศไทย” พ.ต.อ.ชัยชาญ ปุระธนานนท์ ยอมรับ นายตำรวจผู้นี้เป็นผู้กำกับการกองกำกับการสืบสวนสอบสวนของสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯไปทางตะวันตกเฉียงใต้ สมุทรสาครมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และการขนส่งถ่านหินนี่เองคือจุดโฟกัสแห่งการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนายทองนาค

เงินค่าจ้างดังกล่าวได้ถูกนำมาแบ่งกันในระหว่างชาย 7 คนที่รวมทีมกันล่าสังหารนายทองนาค ผู้อยู่ในวัย 47 ปี พ.ต.อ.ชัยชาญกล่าว ขณะที่คลี่แผ่นกระดาษที่มีรอยพับยับย่นแผ่นหนึ่งบนโต๊ะทำงานปูกระจกของเขา มันเป็นกระดาษถ่ายเอกสารที่มีรูปถ่ายและชื่อของชาย 7 คนที่ร่วมก่อเหตุฆาตกรรมรายนี้ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน

นายโยธิน เทพเรียน ซึ่งรายชื่อผู้ต้องสงสัยในกระดาษถ่ายเอกสารแผ่นนี้ระบุว่าเป็นมือปืนสังหาร เวลานี้ได้เข้ามอบตัวแล้ว โดยที่ตำรวจบอกว่านายโยธินได้รับค่าจ้าง 4,000 บาทสำหรับการยิงนายทองนาค ตอนที่นักเคลื่อนไหวผู้นี้นั่งอยู่ข้างนอกร้านก๋วยเตี๋ยวของเขาในตอนเช้าของวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนที่ปรากฏออกมานี้ ได้สร้างความผิดหวังท้อแท้ให้แก่บรรดาเพื่อนๆ ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ รวมทั้ง นายชาญชัย รุ่งโรจน์สาคร เพื่อนนักเคลื่อนไหวของนายทองนาค “ผมคิดว่าต้องมีคนที่มีอำนาจมากกว่านี้ อยู่เหนือคนที่ถูกตำรวจระบุตัวออกมา มันมีทั้งเรื่องสายสัมพันธ์ เครือข่าย ธุรกิจท้องถิ่น ตลอดจนการเมือง”

นายชาญชัย เข้าร่วมเป็นผู้นำคนหนึ่งในการรณรงค์ต่อสู้ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลา 5 ปีแล้วและนำโดยนายทองนาค เพื่อให้ยุติการขนส่งถ่านหินเข้ามาในจังหวัดนี้ เขามองการแพร่กระจายออกไปทั่วทั้งจังหวัดสมุทรสาครอย่างรวดเร็ว ของอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษเช่นนี้ ว่าเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงอำนาจของพวกที่อยู่ตรงแกนกลาง

มีตัวเลขว่า ในจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงาน 114 แห่งที่ใช้หม้อน้ำที่อาศัยถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และบริษัทบางแห่งที่ทำธุรกิจด้านการนำเข้าถ่านหินและการจัดจำหน่ายถ่านหินในจังหวัดนี้ เป็นบริษัทที่จดทะเทียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในจำนวนนี้รวมถึงพวกบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการด้านถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของประเทศด้วย

ไม่มีอะไรที่จะมาหยุดยั้งบริษัทที่ทรงอำนาจขนาดนี้ได้ กลุ่มสีเขียวทั้งหลายชี้ว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยได้เกิดกรณีเหี้ยมโหดของการเข่นฆ่านักรณรงค์เคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 27 คน ทว่าไม่เคยมี “ผู้บงการ” แม้แต่รายเดียวที่ถูกจับกุมถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

“ระบบยุติธรรมเอื้อมมือมาไม่ถึงคนหล่านี้” นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) “คนที่ถูกจับกุมถูกระบุว่ากระทำความผิด ซึ่งมีน้อยเหลือเกินอยู่แล้ว ก็ยังเป็นแค่มือปฏิบัติการตัวเล็กๆ ทั้งนั้น”

เขาบอกว่า บรรยากาศของการรอดตัวโดยไม่ถูกลงโทษเช่นนี้ ยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในบรรดาคดีที่พวกนักเคลื่อนไหวถูกสังหาร ภายหลังจากออกมาประท้วงคัดค้านเหล่าบริษัททรงอำนาจอิทธิพล ที่กำลังสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด

ตัวอย่างของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีหลังๆ มานี้ ได้แก่ พระสุพจน์ สุวโจ ที่ถูกสังหารจากการที่ท่านพยายามป้องกันไม่ให้โครงการพัฒนาการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาฮุบที่ดิน, นางพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น ถูกยิงเสียชีวิตจากการรณรงค์คัดค้านการขนทราย, และ นายสุพล ศิริจันทร์ ถูกฆาตกรรมจากการเป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่นประท้วงคัดค้านการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย

กรณีเหล่านี้เป็นคำอธิบายว่า ทำไมชุมชนท้องถิ่นทั้งหลายจึงรู้สึกลังเลที่จะออกมาประท้วงคัดค้านโครงการที่ถูกครอบงำโดยภาคเอกชน และสร้างมลพิษให้แก่เรือกสวนไร่นา, บ้านเรือน, ตลอดจนภูมิอากาศ ในบริเวณที่เป็นชนบท และที่เป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท

“ชาวบ้านที่อยู่ตามต่างจังหวัด ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยเลยเมื่อพวกเขาต้องออกมาทำการประท้วง” น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ ณ สำนักงานของกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว “พวกเขาทราบดีเรื่องที่มีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคนแล้วคนเล่าถูกฆ่า แล้วไม่ได้มีการดำเนินการอะไรกันเลย”

ความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย มีลักษณะกว้างขวางหลากหลาย ตั้งแต่การประท้วงต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ, การตัดไม้ทำลายป่า, การบริหารจัดการของเสียจากอุตสาหกรรม, และการให้สัมปทานทำเหมืองหิน, ไปจนถึงการทำลายป่าชายเลน

การประท้วงของชาวบ้านระดับรากหญ้าในเรื่องพิษร้ายต่างๆ ที่ถูกปล่อยทิ้งออกมาโดยอุตสาหกรรมด้านถ่านหิน จัดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นช่วงหลังๆ นี้เอง ทว่าเป็นกรณีที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประเทศไทยกำลังหันไปอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทนี้เพื่อสนองความต้องการบริโภคพลังงาน ในปีที่แล้ว ไทยนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียถึง 10 ล้านตันทีเดียว

การประท้วงของชาวบ้านในท้องถิ่นก็มีที่ประสบความสำเร็จอยู่เหมือนกัน เหมืองถ่านหินแห่งหนึ่ง และเหมืองโปแตชอีกแห่งหนึ่ง ในเขต 2 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องหยุดการทำงานลงภายหลังถูกคัดค้านอย่างหนักจากบรรดากลุ่มชาวรากหญ้า

เมื่อปีที่แล้ว ชุมชนหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่มาจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง บังคับให้บริษัทหลายรายที่ลงทุนไปเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ต้องยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานของพวกเขา

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จดังกล่าวยังถือว่ามีน้อยนิด และนานๆ ถึงจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง กรณีการเสียชีวิตของนายทองนาค เป็นตัวอย่างอันหม่นหมองที่ทำให้เราระลึกว่า ประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสามารถดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนระดับชาติได้ ก็ต้องเกิดเหตุที่ผู้นำของการประท้วงถูกเล่นงานโจมตีหรือถูกสังหารเสียก่อน

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมา มักอยู่ในลักษณะที่พวกนักเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่น ตลอดจนชาวบ้านธรรมดาๆ ในพื้นที่ห่างไกล กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการใหญ่ๆ ตลอดจนผลประโยชน์ทั้งหลายของภาคธุรกิจ” นายสุนัย ผาสุก นักวิจัยชาวไทยที่ทำงานให้ ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) กลุ่มล็อบบี้ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ตั้งสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์ก กล่าว

“ภาครัฐไม่ให้ความสนอกสนใจความขัดแย้งตึงเครียดเหล่านี้เลย สื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากพวกธุรกิจใหญ่ได้รับการยอมรับและได้รับการรับรองว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากในการพัฒนาแห่งชาติของรัฐไทย” นายสุนัยกล่าวกับสำนักข่าวไอพีเอส

“ความขัดแย้งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาในท้องถิ่นที่แต่ละเรื่องแต่ละกรณีไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน ขณะที่พวกนักเคลื่อนไหวก็ถูกมองว่าเป็นพวกชอบสร้างความรำคาญ, พวกชอบสร้างปัญหา, หรืออย่างเลวร้ายที่สุดก็คือการถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของรัฐ”

นางจอมขวัญ เสวกจินดา ภรรยาหม้ายของนายทองนาค ปฏิเสธไม่ยอมรับตราดังกล่าวเหล่านี้ “ทองนาคกลายมาเป็นแกนนำการประท้วงกลายเป็นนักเคลื่อนไหว ก็หลังจากที่ปัญหามลพิษจากถ่านหินเริ่มเกิดขึ้นแล้ว” เธอกล่าวขณะอยู่ด้านนอกของวัดที่เป็นที่จัดงานสวดศพของนายทองนาค

“เขากลัวว่าถ่านหินจะส่งผลกระทบกระเทือนชุมชนทั้งในคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป” เธอบอก

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น