xs
xsm
sm
md
lg

นักข่าวเอเชียไทมส์ออนไลน์ถูกสังหารเสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: เอเชียไทมส์ออนไลน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

(หมายเหตุผู้แปล: รายงานชิ้นนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นรายงานข่าวการเสียชีวิตของชาห์ซาด ที่เอเชียไทมส์ออนไลน์นำออกเผยแพร่ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2011 และส่วนหลังเป็นบทบรรณาธิการของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ที่นำออกเผยแพร่วันที่ 1 มิถุนายน 2011)

นักข่าวเอเชียไทมส์ออนไลน์ถูกสังหารเสียชีวิต
31/05/2011

Asia Times Online journalist feared dead
31/05/2011

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด หัวหน้าโต๊ะปากีสถาน ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งหายตัวไปตั้งแค่คืนวันอาทิตย์(29พ.ค.) ได้ถูกสังหารเสียชีวิตแล้ว ตามรายงานของตำรวจระบุว่า ได้พบศพของเขาในคลองแห่งหนึ่งที่ตำบลมานดิ บาฮาอุดดีน ในแคว้นปัญจาบ ห่างจากนครหลวงอิสลามาบัดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 150 กิโลเมตร ตำรวจบอกด้วยว่า ศพของเขามีร่องรอยที่แสดงว่าเขาถูกทรมานก่อนตาย

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด (Syed Saleem Shahzad) ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าโต๊ะปากีสถานให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์ และได้หายตัวไปตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (29 พ.ค.) นั้น ได้ถูกสังหารเสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ตามรายงานของตำรวจ

ชาห์ซาด ผู้เขียนรายงานข่าวให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ฮ่องกง มาเป็นเวลาร่วมๆ 10 ปีแล้ว ไม่ได้ไปปรากฏตัวในคืนดังกล่าวเพื่อที่จะออกรายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์ในนครหลวงอิสลามาบัด ตามที่ได้มีการนัดหมายกันเอาไว้

ตำรวจรายงานว่า ได้พบศพของเขาถูกทิ้งอยู่ในคลองแห่งหนึ่ง ในตำบลมานดิ บาฮาอุดดีน (Mandi Bahauddin) ของแคว้นปัญจาบ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 150 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจุดที่พบรถยนต์ของเขาประมาณ 10 กิโลเมตร ตำรวจระบุด้วยว่าศพของเขามีร่องรอยของการถูกทรมาน

ก่อนหน้านั้น สหพันธ์นักหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศ (International Federation of Journalists) ได้เผยแพร่คำแถลงฉบับหนึ่งกล่าวว่า ทางสหพันธ์ “ขอร้องเรียนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลปากีสถาน ให้สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานตำรวจของตนดำเนินการตอบสนองในทันที เพื่อค้นหานักหนังสือพิมพ์อาวุโสซึ่งหายตัวไปในกรุงอิสลามาบัดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม”

ทางด้านนายกรัฐมนตรี ไซเอด ยูซูฟ ราซา กิลานี (Syed Yusuf Raza Gilani) แห่งปากีสถาน ได้ขอแสดง “ความอาลัยและเศร้าโศก” ต่อการเสียชีวิตของชาห์ซาด และได้สั่งการให้ดำเนินการสอบสวนในทันทีในเรื่องการลักพาตัวและการฆาตรกรรมเขา ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส แห่ง ปากีสถาน (Associated Press of Pakistan)

ชาห์ซาด อยู่ในวัย 40 ปี เขามีภรรยาและบุตรชาย 2 คน อายุ 14 ปีและ 7 ปี กับบุตรสาววัย 12 ปีอีก 1 คน ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกเตือนหลายครั้งจากพวกเจ้าหน้าที่ของกรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) ของปากีสถาน เกี่ยวกับข้อเขียนหลายๆ ชิ้นที่พวกเจ้าหน้าที่รู้สึกว่าสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติหรือภาพลักษณ์แห่งชาติของปากีสถาน

อาลี ดายัน หะซัน (Ali Dayan Hasan) นักวิจัยขององค์การสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) ได้เคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า เขาสงสัยว่าพวกเจ้าหน้าที่ ISI ทำการลักพาตัวชาห์ซาด โดยเป็นไปได้ว่าเนื่องมาจากรายงานข่าวชิ้นที่เขาเขียนเมื่อไม่กี่วันก่อน ว่าด้วยการที่อัลกออิดะห์แทรกซึมเข้าไปในกองทัพเรือปากีสถาน (เรื่อง Al-Qaeda had warned of Pakistan strike, Asia Times Online, May 26, 2011 หรือที่ แมเนเจอร์ออนไลน์แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ใช้ชื่อเรื่องว่า เบื้องลึก‘อัลกออิดะห์’โจมตีฐานทัพกองบินนาวี‘ปากีสถาน’)

โทนี แอลลิสัน (Tony Allison) บรรณาธิการของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ได้แสดงความกังวลห่วงใยอย่างลึกซึ้งของเขา สำหรับชาห์ซาด ผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ไร้ความหวาดกลัวอย่างสุดๆ ผู้หนึ่งเท่าที่เขาเคยทำงานด้วย และกล่าวว่า “พวกเราจะพยายามใช้แรงกดดันให้มากที่สุดที่จะทำได้ต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีนี้ พวกเรา ณ เอเชียไทมส์ออนไลน์ ขอแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งที่สุดของพวกเราต่อครอบครัวของซาลีม”

บทบรรณาธิการ
ความยุติธรรมต้องบังเกิด ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด
01/06/2011

EDITORIAL
Justice, not words
01/06/2011

ประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) แห่งปากีสถาน ได้แสดงความอาลัยและความเศร้าเสียใจอย่างลึกซึ้ง ต่อกรณีการถูกลักพาตัวและการถูกสังหารของ ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด หัวหน้าโต๊ะปากีสถาน ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ พร้อมกับออกคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนในทันที ท่านประธานาธิบดีเน้นย้ำว่า รัฐบาลของเขามีความเชื่ออย่างหนักแน่นมั่นคงในเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน และการส่งเสริมคุณค่าทางประชาธิปไตย

คำพูดอันแสดงอารมณ์ความรู้สึกอันทรงเกียรติและสูงส่งเช่นนี้ สมควรที่จะขานรับให้ก้องสะท้อนไปทั่วโลก ทว่าความยุ่งยากอยู่ตรงที่ว่า คำพูดก็เหมือนๆ กับเสียงสะท้อน นั่นคือมันจะจางหายไปอย่างรวดเร็วยิ่ง และสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือจะไม่มีการขยับทำอะไรทั้งสิ้น อะไรๆ ก็คงจะเป็นหมือนอย่างเคยๆ ในประเทศซึ่งในปี 2010 มีนักหนังสือพิมพ์เสียชีวิตมากที่สุดในโลก นั่นคือ 44 คน และสำหรับปีนี้ก็มีผู้ทำงานด้านข่าวคนสำคัญถูกสังหารไปแล้ว 4 คน เพียงเพราะพวกเขากำลังทำงานตามหน้าที่ของพวกเขา

ไม่มีฆาตกรรายใดเลยที่ถูกนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีเลยแม้แต่รายเดียว

ตราบใดที่ข้อมูลสถิติอันน่าสลดหดหู่นี้ยังดำเนินต่อไป ขณะที่ปากของปากีสถานยังเพ้อพร่ำคำพูดซ้ำซาก แต่กลไกรัฐของประเทศนี้ (ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยผ่านการจ้างวาน) กลับอาละวาดออกฤทธิ์ออกเดชแล้ว ปากีสถานก็จักไม่มีทางได้รับการพินิจพิจารณาว่าเป็นหุ้นส่วนผู้น่าไว้วางใจ เฉกเช่นที่สหรัฐฯได้เรียนรู้มาครั้งแล้วครั้งเล่าในตลอดระยะเวลา 10 ปีอันแสนทรมานที่ต้องถูกบีบบังคับให้ร่วมเรียงเคียงหมอนกับกรุงอิสลามาบัด

สภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย ในเมื่อฝ่ายอเมริกันกำลังพยายามทำให้ตนเองเป็นอิสระหลุดพ้นออกมาจากอัฟกานิสถาน และออกมาจากการต้องคอยรับมือกับพวกหัวรุนแรงในภูมิภาคแถบนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน พูดได้อย่างตรงเป้าหมายใจกลางที่สุด เมื่อเธอแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสังหารชาห์ซาดว่า “ผลงานของเขาในการรายงานเรื่องเกี่ยวกับการก่อการร้ายและประเด็นทางด้านข่าวกรองในปากีสถานนั้น เป็นการนำแสงสว่างมาสู่ความยุ่งยากทั้งหลายที่พวกลัทธิสุดโต่งก่อให้แก่เสถียรภาพของปากีสถาน

ความตายของชาห์ซาด ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากเขารายงานเรื่องความเกี่ยวพันโยงใยอันล้ำลึกของอัลกออิดะห์ภายในกองทัพเรือปากีสถาน คือโศกนาฏกรรมส่วนบุคคลอันมากมายมหาศาลจนเหลือที่จะวัดคำนวณได้ สำหรับครอบครัวของเขา, เพื่อนมิตรของเขา, และเพื่อนร่วมงานของเขา และมันก็เป็นโศกนาฎกรรมสำหรับเสรีภาพในการแสดงความความคิดเห็น ซึ่งได้รับการบรรจุเอาไว้อย่างศักดิ์สิทธิ์ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ทว่ากลับถูกละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่าจากพวกซึ่งเลือกที่จะฆ่าแทนที่จะรับฟัง เมื่อพวกเขาได้ยินความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน

ชาห์ซาดนั้นไม่เคยเข้าข้างหนึ่งข้างหนึ่ง บ่อยครั้งเขาหวาดกลัวว่าจะต้องถูกฆ่า ทั้งจากน้ำมือของพวกหัวรุนแรงและจากน้ำมือของรัฐ

โศกนาฏกรรมนี้ สามารถที่จะกลายเป็นโอกาสสำหรับประธานาธิบดีซาร์ดารี เขาสามารถที่นำนำเอาพวกฆาตกรผู้สังหารชาห์ซาดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อไถ่บาปความผิดพลาดต่างๆ ในอดีต ทั้งนี้เพื่อเป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าก้าวใหญ่ๆ สู่การนำเอาการกระทำจริงๆ มาเคียงคู่กับถ้อยคำโวหารอันสูงส่ง ตลอดจนเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าปากีสถานมีเจตนารมณ์ที่จะเป็นหุ้นส่วนผู้ไว้วางใจได้ในประชาคมระหว่างประเทศ

ด้วยการกระทำดังกล่าวนี้ ประธานาธิบดีซาร์ดารียังจะแสดงออกซึ่งความเคารพอันสูงสุดต่อเพื่อนร่วมชาติชาวปากีสถานผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งสละชีวิตของตนเองให้แก่การเสาะแสวงหาความจริง
รายงานข่าวชิ้นสุดท้ายก่อนถูกสังหารของ ‘ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด’
ปฏิบัติการของพวกนักรบอิสลามิสต์หัวรุนแรงซึ่งในสัปดาห์นี้บุกเข้ายึดเอาฐานทัพกองบินนาวีของกองทัพเรือปากีสถาน “เป็นตัวประกัน” อยู่นาน 15 ชั่วโมงนั้น แท้ที่จริงแล้วคือการลงมือกระทำตามคำขู่ของพวกเขาที่ยื่นต่อพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงปากีสถานก่อนหน้านี้ คำขู่ดังกล่าวมีว่า จงปล่อยตัวบรรดาทหารเรือที่พวกคุณกวาดจับกักกันเอาไว้ในฐานะเป็นผู้ต้องสงสัยพัวพันอัลกออิดะห์ มิฉะนั้นก็ต้องรับมือกับผลต่อเนื่องที่จะเกิดตามมา ปรากฏว่าหน่วยข่าวกรองกองทัพเรือที่อยู่ในอาการสิ้นท่าหมดปัญญา หลังจากค้นพบว่าอัลกออิดะห์สามารถแทรกซึมเข้ามาในกองทัพได้มากมายขนาดไหนแล้ว ได้ใช้ท่าทีเพิกเฉยไม่สนใจต่อการเรียกร้องนี้ และดังนั้นพวกเขาจึงถูกสั่งสอนให้เผชิญกับบทเรียนความเป็นจริงอันหนักหนาสาหัสบางอย่างบางประการ
กำลังโหลดความคิดเห็น