xs
xsm
sm
md
lg

ใครฆ่านักข่าวเอเชียไทมส์ออนไลน์ ‘ซาลีม ชาห์ซาด’

เผยแพร่:   โดย: อามีร์ มีร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Who killed Syed Saleem Shahzad?
By Amir Mir
03/06/2011

โลกของกลุ่มก่อการร้ายและโลกของหน่วยงานสายลับปากีสถาน เป็น 2 อาณาบริเวณที่มัวสลัวและเหลื่อมล้ำทับซ้อนกันอยู่ จึงทำให้มีผู้ต้องสงสัยยาวเหยียดทีเดียวในกรณีการสังหารโหด ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด หัวหน้าโต๊ะปากีสถาน ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ทั้งนี้ขณะที่กรมประมวลข่าวกรองกลาง (ไอเอสไอ) ปากีสถาน ปรารถนาเหลือเกินที่จะรู้ชื่อประดาแหล่งข่าวผู้เปิดโปงให้ชาห์ซาดได้ทราบถึงความเกี่ยวโยงระหว่างกองทัพเรือกับอัลกออิดะห์ โดยที่ตัวชาห์ซาดเองคงปฏิเสธไม่ยอมเปิดเผยตัวแหล่งข่าวเหล่านี้ ทางด้านพวกหัวรุนแรงก็มีความเป็นไปได้ที่จะเล็งเอาเขาเป็นเป้าหมาย ด้วยความจงใจที่จะป้ายความผิดไปยังไอเอสไอ

ละฮอร์, ปากีสถาน – ในโลกแห่งเงาสลัวของปากีถสาน นักหนังสือพิมพ์สามารถที่จะมั่นใจได้อย่างมีเหตุผลว่าพวกเขายังจะมีชีวิตรอด ก็เพียงแค่ถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งตีพิมพ์รายงานข่าวที่ปรากฏชื่อพวกเขาเป็นผู้เขียน ถูกส่งไปถึงมือผู้อ่าน หลังจากนั้นคุณไม่อาจทราบได้หรอกว่าใครกันบ้างที่รู้สึกถูกสบประมาทจากข่าวของคุณ และจัดแจงมาลักพาตัวคุณ, ทรมานคุณ, หรือกระทั่งฆ่าคุณทิ้ง นี่แหละคือเนื้อหาสาระของเรื่องราวโศกนาฏกรรมของ ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด (Syed Saleem Shahzad) หัวหน้าโต๊ะปากีสถานวัย 40 ปีของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งร่างที่มีร่องรอยถูกทรมานของเขาถูกพบอยู่ในคลองแห่งแห่ง ในบริเวณที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงอิสลามาบัดประมาณ 150 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ชาห์ซาดหายตัวไปตั้งแต่คืนวันที่ 29 พฤษภาคม หรือ 2 วันหลังจากรายงานข่าวเรื่อง "Al-Qaeda had warned of Pakistani strike" (แมเนเจอร์ออนไลน์แปลเป็นภาษาไทยแล้ว โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “รายงานข่าวชิ้นสุดท้ายก่อนถูกสังหารของ ‘ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด’”) ถูกนำออกเผยแพร่ รายงานข่าวชิ้นนี้ระบุว่า อัลกออิดะห์มีการติดต่อเจรจากับกองทัพเรือปากีสถานเพื่อให้ปล่อยตัวทหารเรือที่ถูกคุมขังเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าพัวพันเกี่ยวข้องกับองค์การก่อการร้ายรายนี้ ข่าวของชาห์ซาดบอกว่ากองทัพเรือตกลงยินยอมที่จะปล่อยตัวบุคลากรในกองทัพเหล่านี้ก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นการซักถามพวกเขาแล้ว อันเป็นเงื่อนไขที่อัลกออิดะห์ปฏิเสธไม่ยอมรับ รายงานข่าวชิ้นนี้ระบุว่า การโจมตีอย่างบ้าบิ่นต่อฐานทัพกองบินนาวีเมห์ราน (Mehran) ในนครการาจีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม คือผลลัพธ์ของความล้มเหลวในการตกลงกันระหว่างกองทัพเรือกับอัลกออิดะห์ ดังนั้น ข้อเขียนของเขาจึงเป็นการป่าวร้องให้เห็นถึงความพัวพันเชื่อมโยงกันระหว่างพวกหัวรุนแรงกับฝ่ายทหาร

รายงานการชันสูตรพลิกศพของชาห์ซาด ซึ่งจัดทำโดยคณะแพทย์ 3 คน ได้พบว่านักหนังสือพิมพ์ผู้นี้เสียชีวิตไม่นานนักหลังจากเขาถูกลักพาตัว น.พ.ฟาร์รุค คามาล (Farrukh Kamal) หัวหน้าคณะผ่าศพกล่าวว่า “มีบาดแผลอย่างน้อยที่สุด 17 แผล หลายแผลทีเดียวมีลักษณะยาวลึก ... กระดูกซี่โครงทั้งจากด้านซ้ายและด้านขวาดูเหมือนกับถูกฟาดตีอย่างแรงมาก โดยใช้วัตถุไม่มีคม กระดูกซี่โครงที่หักได้แทงเข้าไปยังปอดของซาห์ชาด ซึ่งดูน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต”

คำถามแบบยิงตรงเป้ากันเลยที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาถามกันก็คือ ใครเป็นผู้ทรมานชาห์ซาด? ไม่ใช่ใครเป็นผู้ลงมือฆ่าเขา แนวความคิดหนึ่งที่มีผู้เสนอกันนั้น ชี้นิ้วกล่าวหาตรงไปที่องค์การข่าวกรองอันน่าสะพรึงกลัวของปากีสถาน ซึ่งก็คือ กรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) โดยระบุว่าชาห์ซาดถูกทรมานเพื่อรีดให้ยอมบอกว่าใครเป็นแหล่งข่าวของเขาในการเขียนรายงานข่าวชิ้นที่กล่าวขึ้นข้างต้น ปรากฏว่า ISI ได้ออกคำแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างรวดเร็วทีเดียว สำหรับแนวความคิดทฤษฎีแบบที่สองนั้นเชื่อว่า พวกนิยมอิสลามหัวรุนแรงอาจจะเป็นผู้กำจัดชาห์ซาดเพื่อสร้างทำให้ไอเอสไอเกิดความอับอายขายหน้า นอกจากนั้นยังมีพวกที่เสนอทฤษฎีแบบที่ 3 ที่ระบุว่า ชาห์ซาดตกเป็นเหยื่อของศัตรูที่มีเรื่องไม่พอใจเขาเป็นการส่วนตัว

ผู้ที่เชื่อแนวความคิดแบบแรกและทำการระดมยิงเข้าใส่ไอเอสไอชุดใหญ่เป็นชุดแรกเลย ได้แก่ อาลี ดายัน หะซัน (Ali Dayan Hasan) แห่ง ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch หรือ HRW) ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมแล้ว เขาออกมาแถลงว่า “เราได้รับแจ้งจากพวกผู้ทำหน้าที่ติดต่อเจรจาที่เชื่อถือได้ บอกว่าเขากำลังถูกไอเอสไอกักขังไว้” ทว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความระแวงสงสัยกันอย่างจริงจังต่อไอเอสไอ กลับเป็นข้อมูลที่หะซันเปิดเผยออกมาอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ข้อมูลที่ว่าเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2010 ชาห์ซาดเคยถูกฝ่ายบริหารข้อมูลข่าวสาร (Information Management Wing) ของกรมประมวลข่าวกรองกลาง เรียกตัวไปยังกองบัญชาการของไอเอสไอ ในกรุงอิสลามาบัด เนื่องจากต้องการพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับรายงานข่าวที่เขาเขียนเอาไว้ในช่วงนั้น ซึ่งเขาระบุว่าปากีสถานได้แอบปล่อยตัว มุลลาห์ บาราดาร์ (Mullah Baradar) ผู้นำของตอลิบานอัฟกานิสถาน ที่รองลงมาจากมุลลาห์ โอมาร์ (Mullah Omar) เพื่อให้บาราดาร์เข้าร่วมในการจรจาเกี่ยวกับอนาคตของอัฟกานิสถาน โดยที่มีฝ่ายทหารปากีสถานเป็นตัวกลาง

ปรากฏว่าผู้ที่ออกมาพบปะกับชาห์ซาดที่กองบัญชาการไอเอสไอคราวนั้น มีเพียงนายทหารเรือ 2 คน ซึ่งได้ขอร้องอย่างสุภาพให้ชาห์ซาดเปิดเผยชื่อแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในรายงานของเขา หรือไม่อย่างน้อยที่สุดก็ให้ชาห์ซาดเขียนปฏิเสธข้อเท็จจริงของรายงานชิ้นนั้น ครั้นเมื่อชาห์ซาดปฏิเสธ 1 ใน 2 นายทหารเรือดังกล่าวก็ได้เล่าให้ชาห์ซาดฟังในเรื่องบัญชีรายชื่อผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายถูกเก็บ ซึ่งเป็นบัญชีที่ได้จากผู้ต้องขังที่เป็นพวกผู้ก่อการร้ายคนหนึ่ง พร้อมกันนั้นนายทหารเรือผู้นี้ก็บอกว่า “ถ้าผมพบชื่อคุณในบัญชีที่ว่า แน่นอนทีเดียวว่าผมจะแจ้งให้คุณทราบ” ชาห์ซาดตีความท่าทีเช่นนี้ว่าเท่ากับการข่มขู่คุกคาม ดังนั้นเขาจึงคิดว่าเป็นการรอบคอบที่จะบอกเล่าให้ตัวแทนของฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (HRW) รับทราบเกี่ยวกับการพบปะกับไอเอสไอดังกล่าว โดยที่เขาเขียนเป็นอีเมล์ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2010

ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเปรียบได้กับเชื้อเพลิงที่ช่วยโหมกระพือข่าวลือในลักษณะทฤษฎีแบบที่ 1 ให้ลุกโชนมากขึ้น ได้แก่เรื่องที่ว่า 1 ในนายทหารที่พบปะกับชาห์ซาดในปี 2010 ดังกล่าว คือ น.อ.(พิเศษ) คอลิด เปอร์วาอิซ (Khalid Pervaiz) ผู้ที่เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการคนใหม่ของฐานทัพกองบินนาวีเมห์ราน (Mehran) เพียงไม่กี่วันหลังจากฐานทัพแห่งนี้ถูกพวกหัวรุนแรงบุกเข้าโจมตีในวันที่ 22 พฤษภาคม

หลังจากมรณกรรมของชาห์ซาด ไอเอสไอได้กระทำสิ่งที่ไม่ค่อยเคยกระทำมาก่อน นั่นคือการออกคำแถลงฉบับหนึ่งเพื่อชี้แจงเหตุการณ์การพบปะที่เกิดขึ้นในปี 2010 “อีเมล์ที่มิสเตอร์ซาลีม ชาห์ซาด ส่งไปถึงมิสเตอร์ อาลี หะซัน ดายัน แห่ง HRW ตามที่มีการเสนอข่าวกันนั้น … ไม่ได้มีการระบุถึงการข่มขู่คุกคามอย่างแอบแฝง หรือมีการเปิดเผยให้ทราบถึงการข่มขู่คุกคามใดๆ เลย” นอกจากนั้นคำแถลงของไอเอสไอ ยังอ้างเหตุผลความชอบธรรมที่จะเรียกตัวชาห์ซาดไปพบ โดยที่ใช้ถ้อยคำดังนี้ “การพบปะระหว่างนักหนังสือพิมพ์ผู้นี้ กับเหล่าเจ้าหน้าที่ ISI ที่สังกัดอยู่ในฝ่ายบริหารข้อมูลข่าวสาร ตามที่มีการเสนอข่าวกันนั้น เป็นการหารือเกี่ยวกับรายงานชิ้นที่เขาเขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม และการพบปะกันคราวนั้นก็ไม่ได้มีการมุ่งร้ายใดๆ ทั้งสิ้น หน้าที่ส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารข้อมูลข่าวสาร ก็คือการติดต่อสร้างสายสัมพันธ์กับประชาคมนักหนังสือพิมพ์ วัตถุประสงค์หลักของการมีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวทุกๆ ครั้ง คือการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนั้น ไอเอสไอยังถือเป็นกิจของตนที่จะต้องแจ้งให้สถาบันตลอดจนบุคคลต่างๆ ได้ทราบไว้ ถ้าหากรับรู้มาว่ามีการเตือนในลักษณะข่มขู่คุกคามต่อสถาบันและบุคคลเหล่านั้น” คำแถลงฉบับนี้แจกแจง

อย่างไรก็ดี นาจัม เซธี (Najam Sethi) นักหนังสือพิมพ์ผู้มากประสบการณ์ ได้ทำให้ข่าวลือฮือฮานี้เกิดการหักมุมครั้งใหม่อีกคำรบหนึ่ง เมื่อเขากล่าวในรายการโทรทัศน์ของเขาที่เผยแพร่ทาง จีโอ ทีวี (Geo TV) ว่า “วิธีการที่ชาห์ซาดถูกสังหาร ดูเหมือนกับจะเป็นฝีมือของพวกหน่วยงานต่างๆ มากกว่า” เซธีเข้าใจว่าพวกที่ลักพาตัวชาห์ซาดคงไม่ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับจุดอ่อนเปราะทางร่างกายของชาห์ซาด กล่าวคือ เขาเคยถูกยิงในปีที่แล้ว โดยที่กระสุนยังคงฝังเข้าไปแถวๆ ชายโครงด้านซ้ายของเขา บริเวณใต้หัวใจพอดี พวกคนที่ลักพาตัวเขาอาจกระทำการคราวนี้เพียงเพื่อสั่งสอนเขาเท่านั้น ทว่าเป็นเพราะงี่เง่าไม่ทราบว่าเขาทนการถูกซ้อมได้เพียงน้อยนิดสืบเนื่องจากบาดแผลที่ได้รับตั้งแต่ปีที่แล้ว พวกนั้นคงไม่ได้ต้องการฆ่าชาห์ซาดจริงๆ หรอก นี่เป็นความเห็นของเซธี

แต่พวกที่เชื่อในทฤษฎีอีกแนวทางหนึ่งตอบโต้ว่า ภาพสมมุติสถานการณ์ที่เซธีวาดออกมานี้ฟังดูสมเหตุสมผลอยู่หรอก ทว่าสมมุติฐานพื้นฐานของเขาไม่ถูกต้อง โดยควรที่จะมองว่าใครที่ไหนสักคนก็สามารถเป็นผู้ทำการทรมานชาห์ซาดได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไอเอสไอเจ้าเดียว รัฐมนตรีมหาดไทย เรห์มาน มาลิก (Rehman Malik ) ได้เคยพูดเอาไว้ว่า การฆาตกรรมคราวนี้อาจจะเป็นเรื่องการล้างแค้นส่วนตัวก็ได้ เรื่องที่ชาห์ซาดถูกยิงในปีที่แล้วด้วยฝีมือของยามรักษาความปลอดภัยผู้หนึ่งภายหลังการชกต่อยกันอย่างชุลมุนในบริเวณ เอฟ-6 ของกรุงอิสลามาบัด ถูกผู้ที่เชื่อในทฤษฎีนี้หยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างว่า อย่างน้อยที่สุดชาห์ซาดก็มีศัตรูคู่แค้นคนหนึ่งที่สามารถใช้ความรุนแรงแบบสุดๆ ได้ อันที่จริงตำรวจอิสลามาบัดได้เข้าจับกุมยามที่ชื่อ อิชเตียก (Ishtiaq) ผู้นี้เอาไว้แล้ว และทำการซักถามเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการสอบสวนคดีฆาตกรรมชาห์ซาด อย่างไรก็ตาม บุคคลวงในใกล้ชิดชาห์ซาดต่างบอกว่า ชาห์ซาดได้ให้อภัยยามผู้นี้แล้ว และได้ขอถอนการกล่าวโทษเขา ซึ่งทำให้ยามผู้นี้ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

นอกจากนั้นยังมีพวกที่เสนอแนวความคิดแนวทางที่ 3 ซึ่งระบุว่า ชาห์ซาดอาจถูกสังหารโดยพวกหัวรุนแรงศรัทธาอิสลามแรงกล้า กลุ่มคนเหล่านี้กำลังทำการโจมตีโดยพุ่งเป้าหมายไปที่บรรดาสิ่งปลูกสร้างทางทหารของปากีสถาน เนื่องจากพวกเขาเชื่อในสมมุติฐานที่ว่าฝ่ายทหารปากีสถานได้ทรยศจนเป็นเหตุให้ อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์ถูกสังหารในวันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ผู้ที่เสนอทฤษฎีนี้บอกว่า พวกหัวรุนแรงนั้นประมาณการได้อย่างถูกต้องว่า การสังหารชาห์ซาดจะทำให้เกิดกระแสประณามไอเอสไอ อันจะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานนี้ให้ย่ำแย่หนักยิ่งขึ้นไปอีก การที่ไอเอสไอต้องตกอยู่ในฐานะวุ่นวายอยู่กับการป้องกันตนเอง ย่อมถือเป็นข่าวดีสำหรับกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ แต่แนวความคิดแนวทางที่ 3 นี้ก็ได้ถูกตอบโต้จากพวกไม่เห็นด้วย โดยชี้ว่าชาห์ซาดนั้นมีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นมากกับโลกของพวกหัวรุนแรง ด้วยเหตุนี้การเสียชีวิตของชาห์ซาด กลับจะทำให้พวกหัวรุนแรงเหล่านี้สูญเสียนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยให้รายงานทัศนะความคิดเห็นของพวกเขาต่อโลกภายนอกด้วยซ้ำ

พวกที่สงสัยว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับการสังหารคราวนี้ ได้หยิบยกเรื่องที่มีภรรยาของชาห์ซาดได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่ไม่ยอมระบุชื่อในคืนวันที่ 29 พฤษภาคม อันเป็นวันที่สามีของเธอถูกลักพาตัว คนที่โทรศัพท์ติดต่อมาดังกล่าวบอกกับเธอว่าไม่ต้องวิตกกังวล ชาห์ซาดจะได้รับการปล่อยตัวในเช้าวันถัดไป ทางด้าน โซห์รา ยูซุฟ (Zohra Yusuf) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของปากีสถาน ก็ได้ออกมาประณามตัวแสดงในภาครัฐว่าพัวพันกับคดีฆาตกรรมคดีนี้ โดยเขาย้ำว่า “ช่วงเวลาที่เกิดเหตุลักพาตัวชาห์ซาด ตลอดจนลักษณะของการก่อเหตุดังกล่าว ย่อมเป็นที่ถนัดชัดเจนอย่างล้นเหลือทีเดียวว่า เขาตกเป็นเป้าหมายก็เพียงเพราะผลงานของเขาในฐานะที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ การที่ศพของเขาถูกโยนทิ้งอย่างรวดเร็วก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนัก (ของความเชื่อ) ในเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันของพวกตัวแสดงในภาครัฐ”

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่แน่นอนว่าไอเอสไอกำลังตกเป็นฝ่ายต้องตั้งรับ แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้รับผิดชอบก่อการฆาตกรรมชาห์ซาดอย่างป่าเถื่อน มีสิ่งหนึ่งที่สามารถแน่ใจได้เลย นั่นก็คือ เขาจะไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์คนสุดท้ายที่ต้องเสียสละชีวิตของเขาเพื่อขุดคุ้ยค้นหาความจริง เนื่องจากยังมีคนข่าวอีกจำนวนมากมายนักในปากีสถานที่มีความเชื่ออย่างหนักแน่นมั่นคงว่า “ความจริง” ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือล้ำกว่าสิ่งที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ”

อามีร์ มีร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโสชาวปากีสถาน และเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่มในเรื่องเกี่ยวกับอิสลามแบบหัวรุนแรงและการก่อการ้าย โดยเล่มล่าสุดก็คือ Talibanisation of Pakistan: From 9/11 to 26/11
กำลังโหลดความคิดเห็น