.
เอเอฟพี - ทูตสหรัฐฯ ประจำพม่าคนแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ เดินทางถึงพม่าเพื่อเริ่มทำหน้าที่ตามตำแหน่งในวันนี้ (11 ก.ค.) ขณะที่สหรัฐฯ เตรียมพร้อมที่จะให้รางวัลการปฏิรูปในพม่าด้วยการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าระบุว่า นายเดเร็ค มิทเชลล์ ผู้เคยทำหน้าที่กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชีย ได้เข้าคำนับ และหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งในกรุงเนปีดอ นับเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ครั้งล่าสุดจากสหรัฐฯ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอบอุ่นขึ้น
นายมิทเชลล์ถูกเสนอชื่อให้รับตำแหน่งดังกล่าว โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ดำเนินนโยบายผูกพันกับพม่ามากขึ้น นับตั้งแต่ประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้หลุดพ้นจากการปกครองระบอบเผด็จการทหารยาวนานหลายทศวรรษได้สิ้นสุดลงเมื่อปีก่อน
วอชิงตันในสัปดาห์นี้ มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดต่อพม่าเพิ่มขึ้น จากที่ได้คลายข้อห้ามด้านเศรษฐกิจ และการเงินชั่วคราว หลังพม่าจัดการเลือกตั้งซ่อมเมื่อเดือน เม.ย. ที่ทำให้นางอองซานซูจีได้เข้านั่งในรัฐสภา
การบรรยายสรุปอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเยือนเอเชียของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า นางคลินตันคาดว่า จะประกาศเกี่ยวกับการคว่ำบาตรในสัปดาห์นี้ที่กัมพูชา ที่นางจะได้พบกับผู้นำประเทศต่างๆ ของภูมิภาค
เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ยังระบุเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพม่าในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แต่ยอมรับว่า ความท้าทายอย่างมากมายยังคงมีอยู่ในประเทศแห่งนี้
นายมิทเชลล์เดินทางถึงกรุงเนปีดอ ไม่กี่วันหลังนางซูจีเข้าทำหน้าที่ในสภาเป็นครั้งแรก ที่นำความชอบธรรมมาสู่สภา แม้ว่ายังคงถูกครอบงำโดยกองทัพ และพันธมิตรทางการเมืองของกองทัพ
นางซูจีกล่าวถึงนายมิทเชลล์ว่า นายมิทเชลล์ไม่ได้มีเพียงแค่ความสนใจในพม่า แต่ยังรู้เรื่องราวของพม่าอย่างมากมาย จึงเป็นการดีที่นายมิทเชลล์ได้รับตำแหน่งทูตประจำพม่า
สหรัฐฯ ถอนทูตออกจากพม่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531 และการที่พรรคของนางซูจีชนะการเลือกตั้งในปี 2533 แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเผด็จการทหาร
แต่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในช่วงที่ผ่านมา จากรัฐบาลกึ่งพลเรือยของประธานาธิบดีเต็งเส่งที่ขึ้นบริหารประเทศในปีก่อน ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชาติตะวันตก และขับเคลื่อนความหวังการเป็นประชาธิปไตยในอนาคตของประเทศ
ข้อเรียกร้องหลักของสหรัฐฯ ที่ได้รับการตอบรับจากการปฏิรูปที่เกิดขึ้น คือ การปล่อยตัวนักโทษหลายร้อยคน การสงบศึกกับกบฎชนกลุ่มน้อย และการนำพรรคการเมืองของนางซูจีกลับเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก
ฝ่ายกฎหมายของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีจำกัดการนำเข้าจากพม่า และห้ามการลงทุน และส่งออกของสหรัฐฯ ในภาคส่วนการให้บริการด้านการเงินต่อพม่า แต่นักธุรกิจชาวอเมริกันกำลังผลักดันให้มีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษเพิ่มเติมต่อพม่าที่มองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนรัฐสภาพม่า ในตอนนี้กำลังพิจารณากฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ และมาตรการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเปิดเสรีเศรษฐกิจของประเทศ ที่ถูกทิ้งให้อยู่ในภาวะที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดี ระบบพวกพ้อง และการโดดเดี่ยวประเทศนานหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
หลังอนุมัติการแต่งตั้งนายมิทเชลล์ในเดือน มิ.ย. บรรดาวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ได้กดดันฝ่ายบริหารของโอบามาให้อนุญาตการลงทุนจากบริษัทพลังงานของสหรัฐฯ เพราะเกรงว่าพวกเขาอาจจะเสียโอกาสในการแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นๆ.