เอเจนซี - วอชิงตันกำลังเล็งที่จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรพม่าในสัปดาห์นี้ โดยอนุญาตให้บริษัทอเมริกันเข้าลงทุนและให้บริการทางการเงินในแดนหม่อง แต่จะมีการตั้งเงื่อนไขขอให้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการดำเนินการของพวกตน แหล่งข่าวหลายรายซึ่งบรรยายสรุปเรื่องนี้ให้ฟังกล่าวยืนยันเมื่อวันพุธ(11)
ข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการดำเนินการ ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ปกตินั้น ทางการสหรัฐฯมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในพม่า ประเทศที่ติดโผคอร์รัปชันมากที่สุดจากการศึกษาขององค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) อีกทั้งเพิ่งหลุดพ้นจากการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่ดำเนินมาครึ่งศตวรรษ
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามเหล่านี้คาดว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะออกใบอนุญาตในลักษณะที่เป็นใบอนุญาตทั่วไปรวม 2 ประเภท โดยประเภทแรกเป็นใบอนุญาตให้ทำการลงทุนในพม่า และอีกประเภทหนึ่งอนุญาตการให้บริการทางการเงินในแดนหม่อง
ความเคลื่อนไหวคราวนี้ ถือเป็นการเติมเต็มการประกาศของฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ในเรื่องการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรด้านการลงทุนและบริการการเงินต่อพม่า เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิรูปทางการเมืองของพม่าที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 15 เดือนที่แล้ว
นอกจากนั้น ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังเป็นการดำเนินการอย่างแยบยล เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทอเมริกันสามารถเข้าไปทำธุรกิจในพม่า โดยที่ยังรักษากฎหมายคว่ำบาตรเอาไว้และพร้อมนำมาบังคับใช้ใหม่หากพม่าล่าถอยจากมาตรการปฏิรูป
รัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่าชุดปัจจุบัน ขึ้นบริหารประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 นับเป็นสิ้นสุดช่วงเวลา 5 ทศวรรษของการปกครองด้วยระบอบทหาร ปรากฏว่ารัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ ผ่อนคลายการตรวจสอบสื่อ อนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การประท้วง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง
อเมริกาตอบสนองพัฒนาการในทางบวกเหล่านี้ด้วยมาตรการทางการทูตและเศรษฐกิจ โดยส่งคลินตันไปยังพม่าเมื่อปีที่แล้วในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนแดนหม่องในรอบกว่า 50 ปี นอกจากนั้นวอชิงตันยังประกาศการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเบื้องต้นในปีนี้
แหล่งข่าวเผยว่า ความล่าช้านับจากที่คลินตันประกาศเมื่อสองเดือนก่อนจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตของกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในวันพุธ (11) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการถกเถียงของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับขอบเขตรายละเอียดการดำเนินการซึ่งพวกบริษัทอเมริกันที่เข้าไปดำเนินกิจการในพม่าต้องเปิดเผย
แหล่งข่าวแจกแจงว่า ข้อมูลที่บริษัทเหล่านี้แจ้ง บางอย่างอาจเปิดเผยต่อสาธารณชน ขณะที่ข้อมูลอื่นๆ อาจรายงานเป็นข้อมูลลับต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปกป้องความลับทางธุรกิจของบริษัทเหล่านี้
การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนและการให้บริการทางการเงินในพม่าให้มีความชัดเจนเช่นนี้ คาดกันว่าน่าจะกระตุ้นให้พวกบริษัทอเมริกันเร่งรีบเข้าไปในทำธุรกิจในแดนหม่อง
ตัวอย่างเช่น บริษัทโคคาโคล่า ได้แถลงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ต้องการเข้าไปดำเนินกิจการในพม่าในทันทีที่รัฐบาลสหรัฐฯอนุญาต โดยที่แดนหม่องเป็น 1 ในเพียง 3 ประเทศในโลกที่ยักษ์ใหญ่ซอฟต์ดริงก์รายนี้ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินกิจการ สำหรับอีก 2 ประเทศคือ เกาหลีเหนือ และคิวบา
ทางด้านกลุ่มเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ก็แสดงความสนใจอย่างแข็งขันที่จะเข้าสู่แดนหม่อง โดยเฉพาะในกิจการภาคการดูแลสุขภาพ และภาคการผลิตกระแสไฟฟ้า