xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี” เผยปรารถนาจะนำพม่าหากพรรคชนะการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจีถ่ายภาพร่วมกับประธานรัฐสภาคนใหม่ของฝรั่งเศส ก่อนหารือร่วมกัน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. --AFP PHOTO/Jacques Demarthon. </font></b>

เอเอฟพี - นางอองซานซูจี กล่าววานนี้ (28 มิ.ย.) ว่า นางพร้อมที่จะเป็นผู้นำประเทศในวันใดวันหนึ่ง ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีในกรุงปารีส และเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางเยือนประเทศในยุโรป

นางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ระบุว่า รู้สึกประทับใจการต้อนรับที่อบอุ่นซึ่งได้รับจากการเดินทางเยือน 5 ประเทศ ระหว่างเยือนยุโรปเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 25 ปี หลังถูกควบคุมตัวภายในบ้านพักนานหลายปี และเมื่อนางซูจีถูกถามถึงความพร้อมที่จะเป็นผู้นำประเทศในวันหนึ่งหรือไม่นั้น นางซูจีกล่าวว่า ผู้นำของทุกพรรคการเมืองต่างต้องเตรียมพร้อมต่อทุกความเป็นไปได้ หากเชื่อมั่นอย่างแท้จริงในกระบวนการทางประชาธิปไตย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่นางคิดตลอดเวลา สิ่งที่ต้องคิด และมุ่งให้ความสนใจคือ งานในปัจจุบัน ที่เตรียมพร้อมเพื่ออนาคต

ซูจีในวัย 67 ปี จะเดินทางกลับพม่าในวันนี้ (29) สิ้นสุดการตระเวนเยือนประเทศในยุโรป ที่ได้รับการต้อนรับจากผู้คนที่ชื่นชมเป็นจำนวนมาก และจากผู้นำของแต่ละประเทศ ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส

เมื่อวันพฤหัสบดี (28) นางซูจีได้ร่วมโต๊ะอาหารเช้ากับอดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาโกซี และนางคาร์ลา บรูนี-ซาโกซี และได้เดินทางเยี่ยมชมรัฐสภา ก่อนร่วมการประชุม และกล่าวปราศรัยต่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ในกรุงปารีส

พม่าที่ครั้งหนึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร แต่ในปัจจุบัน ปกครองโดยรัฐบาลกึ่งพลเรือน มีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2558 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี จะมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งด้วย แต่นางซูจีย้ำว่า ยังมีงานอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องดำเนินการให้เรียบร้อย นางคิดว่า ไม่สามารถรอจนถึงปี 2558 เพื่อจะได้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด และอีก 3 ปีข้างหน้าจะเป็นสิ่งที่ตัดสินว่าปี 2558 จะมีรูปร่างเป็นเช่นไร

ขณะที่ชาติตะวันตกผ่อนคลาย หรือระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า บรรดานักธุรกิจต่างมุ่งความสนใจมายังพม่า ประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซูจีย้ำว่า ไม่ว่าการลงทุนจากจีน หรือตะวันตก ควรเป็นการลงทุนที่ให้ประโยชน์ต่อทั้งประชาชนของพม่า และต่อนักลงทุนเอง ขณะเดียวกัน การลงทุนนั้นต้องมีความโปร่งใสทางการเงิน

การเดินทางของซูจีครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางความไม่สงบในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศที่ติดพรมแดนบังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 80 คน ในการปะทะกันระหว่างชาวพุทธยะไข่ และมุสลิมโรฮิงญา

ซูจีกล่าวถึงเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพม่าว่า สิ่งสำคัญคือ การกำหนดตัวบทกฎหมายและกฎหมายสัญชาติให้ชัดเจน รัดกุม เพื่อสืบค้นว่า ชาวโรฮิงญาคนใดเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกกฎหมาย

“เชื่อว่าชาวโรฮิงญาบางคนถูกต้องตามกฎหมายพลเมือง และสิทธิของพลเมือง แต่บางคนเราก็ไม่สามารถระบุได้” ซูจี กล่าว

การปะทะกันระหว่างชุมชน การขาดความสามัคคีปรองดองกันในชุมชน เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในความแตกต่างทางวัฒนธรรม และศาสนาที่ใช้เวลานานกว่าจะสะสางคลี่คลาย แต่ด้วยกฎหมาย ปัญหาเหล่านี้จะลดลง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตะวันตก เป็นเพราะพรมแดนมีช่องโหว่ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทำงานไม่เต็มที่ รวมทั้งฝ่ายบังกลาเทศ และพม่าต่างระบุว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่คนของประเทศตัวเอง ส่วนอีกปัญหาหนึ่งคือ ประเด็นของการเป็นพลเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีความยุติธรรม และมีกฎหมายความเป็นพลเมืองที่เข้มงวด และสามารถที่จะสามารถนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดระหว่างประเทศได้.
<br><FONT color=#000033>นางซูจีรับของที่ระลึกจากนายฌ็อง-ปีแยร์ แบล ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. -- AFP PHOTO/POOL/Benoit Tessier. </font></b>
<br><FONT color=#000033>นางซูจีขณะกล่าวปราศรัยยังที่ประชุมของมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์. --AFP PHOTO/Thomas Samson. </font></b>
<br><FONT color=#000033>นางซูจีขณะตอบคำถามผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ของฝรั่งเศส ระหว่างการประชุมที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ วันที่ 28 มิ.ย. --AFP PHOTO/Thomas Samson. </font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น