.
เอเอฟพี - มุสลิมโรฮิงญาจากพม่า ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เรียกร้องไปยังนางอองซานซูจีในวันนี้ ให้พูดสนับสนุนพวกเขา และช่วยยุติการโจมตีทำร้ายชาวโรฮิงญา
บังกลาเทศ ที่มีพรมแดนติดกับพม่าเป็นระยะทางยาวกว่า 200 กม. เป็นที่พักอาศัยของชาวโรฮิงญาลี้ภัยราว 300,000 คน โดยประมาณ 30,000 คน ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเลวร้ายภายในค่ายที่สหประชาชาติให้ความช่วยเหลือ
จากเหตุความไม่สงบระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่ ตลอด 5 วันที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 25 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 41 คน
“คำร้องขอของพวกเรามีต่อสหประชาชาติ ชาติต่างๆ รัฐบาลพม่า และโดยเฉพาะต่อนางอองซานซูจี” นายโมฮัมมัด อิสลาม แกนนำผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายเมืองเท็กนาฟ ติดพรมแดนบังกลาเทศกล่าว
“อองซานซูจีไม่ได้ทำอะไร หรือกล่าวอะไรเพื่อพวกเรา ทั้งที่ชาวโรฮิงญา รวมทั้งพ่อแม่ของผมช่วยหาเสียงให้เธอในการเลือกตั้งปี 2533 แต่ก็เหมือนกับชาวพม่าคนอื่นๆ เธอไม่ได้กล่าวถึงสิทธิของชาวโรฮิงญา” นายโมฮัมมัด อิสลามกล่าว
ในการเดินทางออกนอกพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี เมื่อเดือน พ.ค. นางอองซานซูจีได้พบกับผู้ลี้ภัยชาวพม่าหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในค่ายบริเวณพรมแดนไทย เธอสัญญาที่จะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นกลับบ้าน และให้คำมั่นที่จะไม่ลืมคนเหล่านั้น
นายอิสลาม กล่าวว่า ขณะที่นางอองซานซูจีให้ความสำคัญกับผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง แต่กลับไม่มีความหวังสำหรับชาวโรฮิงญา
.
.
“เราได้ยินว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และนางอองซานซูจีนั้นดีขึ้น และมีการปฏิรูปเกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับชาวโรฮิงญา ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่มีความหมายอะไร” นายอิสลาม กล่าว
รัฐบาลพม่า และชาวพม่าต่างปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในสถานะชาวต่างชาติมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งแนวทางดังกล่าว ยิ่งส่งเสริมความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธยะไข่
นายอิสลามอ้างถึงรายงานที่ได้รับว่า การปะทะที่เกิดขึ้นมีเป้าหมายคือ ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ พร้อมระบุว่า ชาวพุทธ และกองกำลังรักษาความปลอดภัยของพม่าได้ปิดล้อมมัสยิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองหม่องตอว์ หลายคนถูกสังหาร ส่วนที่เมืองซิตตะเว มีคนถูกกักตัวอยู่ในโรงหนังที่ถูกวางเพลิง
“ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกำจัดชาวโรฮิงญาจากพม่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยร่วมมือกับชาวยะไข่ในการสังหารหมู่” นายอิสลามกล่าว
นางอองซานซูจีเดินทางออกจากพม่าวันนี้ (13) เยือนประเทศในยุโรปครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2531 เพื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยตัวเอง
“ฉันจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชน” นางอองซานซูจี กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเครื่องบินจะเดินทางออกจากสนามบินในนครย่างกุ้ง.