ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นักวิทยาศาสตร์เวียดนามจำนวนหนึ่งกำลังคิดแผนทำโคลนนี่ง "ย่าเต่า" ที่อยู่ในสระกระบี่ สระแห่งตำนานในย่านใจกลางกรุงฮานอยมานานกว่า 100 ปี และ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าไม่มี "ปู่เต่า" อยู่ด้วย จึงมิอาจจะมีลูกหลานเหลนโหลนสืบวงศ์ต่อไปได้
หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่าเต่าศักดิ์สิทธิ์แห่งตำนานคู่บ้านคู่เมืองซึ่งเป็นพันธุ์หายาก อาจจะจากทุกคนไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ความกังวลเพิ่มทวีเมื่อ "ย่าเต่า" ดำผุดดำว่ายขึ้นเหนือน้ำให้เห็นบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ไม่ต่างกับเมื่อต้นปีนี้ที่ป่วยหนักอันเนื่องมาจากมลพิษภายในบึงใหญ่ และทางการต้องระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือเยียวยา ทำความสะอาด จัดระบบบำบัดน้ำให้ใหม่ รวมทั้งเติมปลานานาชนิดที่เป็นอาหารโปรดลงไปในบึง
นั่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจับเต่าในตำนานขึ้นมาให้ปรากฏแก่สายตาของชาวเวียดนามทั้งประเทศ และเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ปรากฏว่า เต่าศักดิ์สิทธิ์มิใช่เพศผู้ แม้จะเรียกกันว่า "ปูเต่า" หรือ "กุหรั่ว" (cụ Rùa) มานานหลายนับร้อยๆ ปี
แต่ถึงกระนั้นชาวฮานอยก็ยังสมัครใจเรียกขานเป็น "เต่า" (Rùa) ต่อไป และแม้ว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่เต่าหากเป็นตะพายน้ำขนาดใหญ่ก็ตาม
ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส มีผู้พบเห็น “ย่าเต่า” โผล่ขึ้นเหนือน้ำอย่างน้อย 12 ครั้งในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และอีกหลายครั้งในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ศกนี้ โดยท่ายังไม่ทราบสาเหตุ
เต่าศักดิ์สิทธิ์อาจจะหิวเนื่องจากจำนวนปลาในสระลดลง หรือ ไม่สามารถออกล่าอาหารได้อีกแล้ว เพราะเคยชินกับการให้อาหารตลอดเวลา 3 เดือนที่ถูกกักบริเวณเพื่อเยียวยารักษาแผลอักเสบเรื้อรัง
หรือบางทีก็อาจจะเป็นเพราะน้ำใน “สระคืนดาบ” (Hoan Kiem) เริ่มเน่าเสียอีกก็เป็นได้
แต่ทั่งนี้และทั้งนั้นมันอาจจะเป็นสัญญาณว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยมานานกว่าศตววรรษ อาจจะไม่ใช่บ้านอันอบอุ่นอีกแล้ว และ “ย่าเต่า” อาจจะจากเวียดนามไปได้ทุกเมื่อ ดร.เลดี่งเลือง (Lê Đình Lương) แห่งศูนย์วิเคราะห์ดีเอ็นเอ ในกรุงฮานอยกล่าวว่า การทำโคลนนิ่งเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่และควรจะกระทำอย่างเร่งด่วน
เวียดนามยังไม่เคย “โคลน” อะไรเป็นเรื่องเป็นราว แต่เทคโนโลยีนี้ไม่มีใครหวง และเชื่อว่าสามารถขอความร่วมมือช่วยเหลือจากต่างประเทศได้
.
2
“ตราบเท่าที่ยังไม่อาจจะหาเต่าเพศผู้สายพันธุ์เดียวกันเพื่อเป็นคู่ได้ การทำโคลนนิ่งเป็นทางเลือกเดียว” ดร.เลืองกล่าว
ความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กร.เลซวนแก๋ง (Lê Xuân Cảnh) แห่งสถาบันทรัพยากรทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาเวียดนาม ซึ่งเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อรีบเก็บดีเอ็นเอของย่าเต่าเอาไว้ เพื่อให้สามารถนำไปใช้โคลนได้ทันทีเมื่อถึงคราวจำเป็น
นักวิทยาศาสตร์ในซีกนี้อีกหลายคนบอกว่า ถึงแม้จะมีเต่าเพศผู้พันธุ์เดียวกันเพื่อสืบพันธุเผ่าก็ตาม แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผสมพันธุ์เต่าที่มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย เช่น ศ.ดร.ห่าดี่งดึ๊ก (Hà Đình Đức) ที่เฝ้าติดตามเต่าโบราณในสระแห่งจำนานมานานกว่า 20 ปีกล่าวว่า การโคลนก็อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้เช่นกัน เพราะการนำเอายีนของเตาอายุ 100 ปีที่ร่างกายอ่อนแอไปโคลนให้ออกมาเป็นตัวใหม่นั้น ก็อาจจะได้ความอ่อนแอแบบเดิมๆ และภูมิต้านทานโรคก็จะยิ่งลดน้อยถอยลง
ดร.ดึ๊กชี้ไปยังแกะ “ดอลลี” สัตว์ตัวแรกของโลกที่เกิดจากการโคลน กับสัตว์อีกหลายชนิดที่เติบโตขึ้นมาและเสียชีวิตลงในอีกไม่กี่ปีเนื่องจากสืบยีนตัวเดิมจากร่างเดิมที่มีอายุมากแล้ว ซึ่งธรรมชาติยังคงรักษากฎเกณฑ์นี้เอาไว้
นักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เริ่มออกคัดค้านการโคลนนิ่งเต่าโบราณคู่บ้านคู่เมือง เพราะมีแต่จะสร้างความยุ่งยากติดตามมา รวมทั้งเงินงบประมาณอีกมหาศาล แต่จะไม่สามารถรักษาย่าเต่าเอาไว้ได้ในที่สุด.
ใกล้เวลาจะต้องจาก? by Reuters/VNExpress
ทางการกรุงฮานอยระดมกำลังทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษกว่า 100 นายกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมากออกล่าตัว "ปู่เต่า" ที่เรียกกันในขณะนั้น ขึ้นจากบึงน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเดือน มี.ค.-เม.ย.ปีนี้ เพื่อช่วยเยียวยารักษา แต่เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน "ย่าเต่า" เริ่มแสดงอาการไม่ปรกติอีก สร้างความวิตกกังวลให้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคราวนี้อาจจะไม่สามารถช่วยชีวิตเอาไว้ได้ และเต่าอายุกว่า 100 ปีก็ไม่มีทายาท จึงเป็นที่มาของความคิดการทำโคลนนิ่ง. |
3
4
5
6