เพิ่มเติมเนื้อหาครั้งที่ 1 เวลา 16:56 น. 18 ก.ค.2554 เพิ่มเติมเนื้อหาย่อหน้าที่ 4-9 เวลา 17:29 น. 18 ก.ค.2554 แทรกย่อหน้าที่ 7-8 เวลา 18:20 น. 18 ก.ค.2554
เอเอฟพี-รอยเตอร์-ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศาลสูงสุดของสหประชาชาติมีคำสั่งในวันจันทร์นี้ ให้ทั้งกัมพูชาและไทยถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทรอบๆ ปราสาทพระวิหารในทันที และ เริ่มการเจรจาแก้ไขปัญหาชายแดนที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี
“ทั้งสองฝ่ายจะต้องถอนบุคลากรทางทหารที่ประจำอยู่ในเขตปลอดทหารเฉพาะกาล และละเว้นจากการปรากฏตัวทางทหารในเขตนั้น” คำสั่งที่อ่านโดยประธานยุติธรรมระหว่างประเทศ นายฮิซาชิ โอวาดะ ระบุ
ศาลโลกยังระบุอีกว่า “สถานการณ์ยังไม่แน่นอนมั่นคง” และ “อาจจะเลวร้ายลงไปอีกได้” จึงทำให้ต้องตั้งเป็นเขตปลอดทหารขึ้นมาในอาณาบริเวณดังกล่าว และขอให้ไทยกับกัมพูชาเริ่มการเจรจา
นอกจากนั้นศาลยังมีคำสั่งให้สองฝ่ายยอมรับผู้สังเกตการณ์จากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าประจำในพื้นที่อีกด้วย
กัมพูชาได้นำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลโลกในเดือน เม.ย.2554 ให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เกี่ยวกับพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร และ ในระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาตีความเรื่องนี้นั้น กัมพูชาได้ขอให้มีมาตรการเร่งด่วน โดยขอให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบทั้งหมด (แต่ฝ่ายเดียว) และ ห้ามไทยเคลื่อนไหวทางทหารทุกอย่างในอาณาบริเวณดังกล่าว
ถึงแม้รัฐบาลไทยทุกสมัยที่ผ่านมาจะยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก แต่ได้โต้แย้งมาตลอดเช่นกันเกี่ยวกับสิทธิ์ในพื้นที่ 4.6 ตรกม.รอบๆ ปราสาท
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยให้สัมภาษณ์ที่กรุงเฮกว่า พึงพอใจกับการตัดสินใจของศาลโลกครั้งนี้ เนื่องจาก “การถอนทหารนั้นใช้ปฏิบัติกับทั้งกัมพูชาและไทย”
"เราจะต้องพูดคุยกัน.. ควรกลับมาสู่โต๊ะเจราได้แล้ว" รอยเตอร์อ้างคำพูดของ รมว.ต่างประเทศไทย ส่วน รมว.ต่างประเทศกัมพูชาฮอนัมฮอง ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดกับผู้สื่อข่าวในกรุงเฮก
ในเดือน ก.พ.ปีนี้ สหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างถาวร หลังจากมีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คนจากการปะทะที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียง การปะทะครั้งใหม่ในเดือน เม.ย. (ที่ชายแดนห่างจากปราสาทพระวิหารไปทางตะวันตกกว่า 100 กม.) มีผู้เสียชีวิตอีก 18 คน
ศาลได้สั่งให้สองฝ่าย ทำงานกับกลุ่มอาเซียนต่อไป เพื่อหาข้อตกลงอนุญาตให้คณะสังเกตการณ์เข้าพื้นที่รอบๆ ปราสาท ซึ่งได้กลายเป็นเขตปลอดทหาร
ยังไม่ทราบกำหนดการใดๆ เกี่ยวกับการพิจารณาเพื่อตีความคำพิพากษาปี 2505 ของศาลระหว่างประเทศ กรณีพิพาทเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารถูกนำขึ้นสู่ศาลในกรุงเฮกเมื่อปี 2502 ศาลตัดสินในอีก 3 ปีต่อมา.
.
รายละเอียดอื่นๆ
ตามรายงานที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศาลโลกในวันนี้ ศาลได้มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องของไทย ที่ขอให้ศาลยกคำร้องของฝ่ายกัมพูชา ก่อนจะออกมาตรการต่างๆ รวมทั้งให้สองฝ่ายถอนบุคคลากรทางทหารทั้งหมดด้วยมติ 11 ต่อ 5 เสียง และ ห้ามทั้งสองฝ่ายมีกิจกรรมทางทหารใดๆ ต่อบริเวณเขตปลอดทหารที่ศาลได้สั่งให้จัดตั้งขึ้นเป็นมาตรการชั่วคราวดังกล่าว
ศาลไม่ได้กำหนดว่า เขตปลอดทหารนี้จะคงอยู่ต่อไปเป็นเวลาเท่าไร และ ไม่ได้ขีดเส้นกำหนดเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา
ศาลยังมีมติ 15 ต่อ 1 ห้ามฝ่ายไทยขัดขวางการเข้าไปยังปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา หรือขัดขวางการส่งบำรุงให้แก่บุคคลากรที่ไม่ใช่ทหาร และสองฝ่ายจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่จะทำให้นำปัญหามายังศาลอีก หรือทำให้สถานการณ์บานปลาย จนอยากต่อการแก้ไข
ปัจจุบันกัมพูชาใช้ถนนสายหนึ่งที่ตัดผ่านเข้าไปในพื้นที่พิพาท เป็๋นเส้นทางขึ้นสู่ปราสาทพระวิหาร
ศาลโลกได้จัดทำแผนที่ซึ่งกำหนดบริเวณเขตปลอดทหารขึ้นมาและนำออกเผยแพร่ในวันเดียวกันพร้อมคำสั่งดังกล่าว โดยลากเส้นตรงเป็นสีเหีลี่ยมคางหมูกินอาณาบริเวณกว้าง ลึกเข้าไปทั้งในดินแดนไทยและดินแดนทางฝั่งกัมพูชา
ทั้งหมดเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ศาลจัดพิจารณาจัดขึ้นตามคำร้องของฝ่ายกัมพูชา โดยพิจารณาเห็นว่าการเผชิญหน้าทางทหารอาจจะนำไปสู่การทำให้เกิด “ความเสียหาย ที่ไม่อาจจะซ่อมแซมได้” ต่อปราสาท
ศาลยังระบุอีกว่า ประเด็นที่กัมพูชาขอศาลโลกตีความ คำพิพากษาเมื่อปี 2505 ที่ยกปราสาทพระวิหารให้ตกเป็นของกัมพูชานั้น ศาลโลกเห็นว่าไม่อาจจะทำตามคำเรียกร้องของฝ่ายไทยที่ให้ยกคำร้องของกัมพูชาได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิทธิ์ที่พึงกระทำได้ และนำไปสู่การออกมาตรการเร่งด่วนต่างๆ.