ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รองนายกรัฐมนตีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา แสดงความพึงพอใจต่อคำสั่งของศาลโลก โดยระบุว่าการจัดตั้งเขตปลอดทหารจะทำให้เกิดสันติภาพ โดยนำไปสู่การหยุดยิงถาวร อันเป็นความปรารถนาของฝ่ายกัมพูชา ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รายงานว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมให้ความเห็นใดๆ หลังศาลโลกอ่านคำสั่งดังกล่าว
ท่าทีของนายฮงอาจจะสะท้อนให้เห็นความยินดีปรีดาต่อสิ่งที่ได้จากคำสั่งของศาลโลก ถึงแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนจุดยืนและยอมอ่อนข้อให้กับฝ่ายที่กัมพูชาเรียกกันว่า “พวกสยาม” ศัตรูตลอดกาลของพวกเขา บ้างก็ตาม
“แผนที่หมายความว่า กำลังจะมีการหยุดยิงที่ถาวร มันจะช่วยหยุดการก้าวร้าวรุกรานของไทยต่อกัมพูชา” นายฮงให้สัมภาษณ์ในกรุงเฮกเวลาต่อมา
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดขององค์การสหประชาชาติได้ออกคำสั่งในบ่ายวันจันทร์ 18 ก.ค.นี้ ตามเวลาในประเทศไทย ให้ทั้งไทยและกัมพูชาต่างถอนทหารออกจากพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร
คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศมีผลบังคับตามกฎหมาย แม้ศาลจะไม่มีกลไกใดๆ ไปบังคับให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตาม
ศาลออกคำสั่งดังกล่าว ตามคำร้องของฝ่ายกัมพูชาเมื่อเดือน เม.ย.ที่แล้ว ซึ่งขอให้ตีความคำพิพากษาปี 2505 เกี่ยวกับพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาต่างกล่าวอ้างสิทธิ์ หลังจากศาลโกลได้ตัดสินให้ปราสาทตกเป็นของกัมพูชาแล้ว
ในระหว่างพิจารณาตีความ กัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองปราสาทโดยให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบ และให้ไทยหยุดปฏิบัติการทางทหารใดๆ ที่จะเป็นการคุกคามต่อกัมพูชาในอาณาบริเวณดังกล่าว และฝ่ายไทยตอบโต้ตามข้อกฎหมายโดยขอให้ศาลยกคำร้องของกัมพูชา
ศาลโลกไม่ได้ยกคำร้องของกัมพูชาตามที่ไทยขอ และไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอของกัมพูชาโดยตรง แต่คำสั่งทำให้กัมพูชาได้รับประโยชน์มากกว่านั้น ถึงแม้จะต้องยอมถอนทหารจำนวนมาก ออกจากพื้นที่ๆ กลายเป็น “เขตปลอดทหาร” ก็ตาม
การถอนทหารไม่ได้ทำให้การกล่าวอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของทั้งสองฝ่ายด้อยคุณค่าลง แต่ภายใต้คำสั่งของศาลโลก กัมพูชาจะต้องถอนทหารลงจากเขา และทหารไทยจะต้องถอยร่นออกไปจากพื้นที่ที่เคยประจำอยู่ และไม่อาจจะมีกิจกรรมใดๆ ที่ต้องทำอีกเนื่องจากไม่มีราษฎรไทยอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว
มาตามนัด : มุมน้ำเงิน
2
3
4
5
ตรงกันข้ามกับกัมพูชาซึ่งราษฎรจำนวนมากอาศัยมาพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหารมานานนับสิบปีแล้ว และในนั้นส่วนใหญ่เป็นครอบครัวของทหาร
นอกจากนั้นในบริเวณใกล้ปราสาท ยังมีวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ที่กัมพูชาสร้างขึ้นและอาจจะยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ เนื่องจากพระสงฆ์ย่อมมิใช่ “บุคลากรทางทหาร” ที่ต้องถอนออกไปตามนัยยะของคำสั่งศาลโลก
ศาลยังสั่งมิให้ไทยขัดขวางการขึ้นลงหรือเข้าออกปราสาทพระวิหาร และยังจะต้องเปิดทางสะดวกให้แก่การขนส่งใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับทางการทหารขึ้นไปยังปราสาท ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันฝ่ายกัมพูชาใช้ถนนที่ตัดผ่านเขตปลอดทหารในการขนส่งดังกล่าว
ยังไม่ทราบในรายละเอียดว่ามีกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทหารใดๆ ถูกห้ามในเขตปลอดทหารอย่างเป็นพิเศษหรือไม่ และ ถ้าหากกิจกรรมของฝ่ายพลเรือนยังสามารถดำเนินต่อไปได้ จะรวมถึงการปฏิบัติแผนบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ที่ครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วยหรือไม่
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ได้ให้ปากคำต่อศาลโลกในต้นเดือน มิ.ย. ว่า การกล่าวอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ของกัมพูชา เพิ่งจะมีขึ้นหลังจากฝ่ายนั้น พยายามนำปราสาทพระวิหารไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว และหากปราศจากพื้นที่รอบๆ จะทำให้แผนบริหารจัดการฯ ไม่สมบูรณ์
ถ้าหากคำสั่งของศาลโลกไม่มีข้อห้ามทำกิจกรรมนี้ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการมรดกโลกซึ่งเป็นพลเรือนก็จะสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่ได้อย่างสะดวกและโดยปราศจากการขัดขวางของฝ่ายไทย ถึงแม้ไทยจะได้พยายามคัดค้านความพยายามนี้ของฝ่ายกัมพูชาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
สำรวจเขตปลอดทหาร
ศาลโลกได้ “ร่าง” แผนที่ขึ้นมาแผ่นหนึ่ง โดยไม่ได้ระบุมาตราส่วน หรืออ้างอิงแหล่งที่มา บอกแต่เพียงว่า ทำขึ้นเพื่อแสดงเขตปลอดทหารเท่านั้น
ศาลได้กำหนดจุด 4 จุด A, B, C และ D ขึ้นในแผนที่ (โปรดดูประกอบ) ลากเส้นตรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งเมื่อดูตำแหน่งที่ตั้งจะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 10 ตร.กม. กว้างไกลกว่าพื้นที่พิพาทของสองฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่าเขตปลอดทหาร
และเมื่อดูจากแผนที่อย่างละเอียด 3 จุด คือ A, B และ D อยู่ในดินแดนกัมพูชา จุด A อยู่บนเขตเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลราว 200 เมตรใต้ปราสาทพระวิหารลงไปตามหน้าผา B กับ D อยู่ในเขตพื้นราบเชิงเขาดินแดนกัมพูชา แต่เป็นบริเวณที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย
เส้นลากตรงระหว่าง B กับ A ตัดผ่านทางเดินสายเก่าที่เคยใช้เป็นทางขึ้นไปตามหน้าผาชัน และไม่ได้ใช้การอีกแล้ว และตัดผ่านเส้นทางรถยนต์ที่ฝ่ายกัมพูชาเคยใช้ขนส่งทหาร เสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นสู่วัดกับปราสาท และภายใต้คำสั่งของศาลโลก กัมพูชายังสามารถใช้เส้นทางนี้ขึ้นลงได้ต่อไป แม้จะอยู่ในเขตปลอดทหารก็ตาม
จุด C อยู่ในเขตช่องเขาทางทิศตะวันตกของภูมะเขือ เส้นลากจากจุด C ไปยังจุด D ตัดผ่านช่องตาเฒ่า และบริเวณที่เรียกว่า “ลานอินทรี” ที่เคยเป็นจุดปะทะและเป็นจุดเผชิญหน้ากันมาหลายครั้ง ทั้งหมดเป็นเขตป่าเชิงเขาสูงตั้งแต่ 400-600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
เส้นลากดังกล่าวไปตัดผ่านถนนลาดยางจาก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อไปยังวนอุทยานพระวิหารและผามออีแดง ซึ่งอยู่ในดินแดนไทยและอยู่ไม่ไกลจากบริเวณปราสาท เส้นลากดังกล่าวกินเข้าไปในอาณาบริเวณวนอุทยานแห่งชาติของไทย ซึ่งถ้าหากปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก ไทยจะต้องถอนตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ติดอาวุธออกทั้งหมด
เขตปลอดทหารกำลังจะทำให้ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากดินแดนของไทยที่ไทยใช้ประโยชน์มายาวนาน และไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่พิพาทรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน
มาตามนัด : มุมแดง
6
7
8
9
10
ชัยชนะทางการทูต
คำสั่งของศาลโกลในวันจันทร์ อาจจะทำให้นักการทูตของไทยพึงพอใจและรู้สึกเป็นสุข ที่สามารถไล่ต้อนประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าให้กลับคืนสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง
นอกจากจะออกมาตรการคุ้มครองเฉพาะหน้าแล้ว ศาลยังสั่งให้ไทยและกัมพูชาอนุญาตให้คณะสังเกตการณ์ของอาเซียนเข้าประจำในเขตปลอดทหารและให้สองฝ่ายเริ่มเจรจากันอีกครั้งหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาพิพาท ซึ่งเป็นไปตามที่ฝ่ายไทยเรียกร้องมาตลอด
ไทยได้ยืนยันให้กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ก่อนที่ทหารสังเกตการณ์การหยุดยิงจากอินโดนีเซียจะเข้าไปประจำการ และคำสั่งศาลโลกได้ทำให้เป็นไปตามความประสงค์ของไทย ขณะที่กัมพูชาต้องการให้ไทยถอนทหารเพียงฝ่ายเดียวก่อนหน้านั้น
“เป็นเรื่องตลกที่จะให้กัมพูชาถอนทหารออกจากดินแดนของตัวเอง” ฮอร์ นัมฮง พูดประโยคนี้ในหลายวาระและโอกาส เมื่อถูกถามถึงท่าทีเกี่ยวกับข้อเสนอของไทย
ศาลยังสั่งให้ไทยกับกัมพูชากลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาพิพาทและสองฝ่ายจะต้องรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ให้ศาลโลกได้รับทราบเป็นระยะๆ
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน เคยประกาศอย่างอหังการว่าจะไม่เจรจาสองฝ่ายกับไทยอีก และทุกครั้งจะต้องมีฝ่ายที่ 3 ร่วมอยู่ด้วย เงื่อนไขที่กัมพูชากำหนดเองนี้ทำให้การดำเนินการต่างๆ เพื่อเจรจามีปัญหาเรื่อยมา การนัดพบระหว่างคณะกรรมการชายแดนทั่วไป กับคณะกรรมการปักปันเขตแดนจึงไม่อาจจะมีขึ้นได้
หลังจากวันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นไปทุกอย่างเปลี่ยนแปลง กัมพูชาจะต้องถอนทหารและจะต้องกลับไปเจรจากับไทยอีก ถึงแม้ศาลโลกจะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจะให้เป็นแบบไหน- สองฝ่ายหรือหลายฝ่าย
ทั้งหมดนี้ฝ่ายไทยไม่ได้มาอย่างบังเอิญ หากเป็นผลจากการแสดงจุดยืนบนหลักการอันมั่นคงทางการทูต รวมทั้งการที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ พร้อมแสดงเหตุผลและหลักฐานประกอบอย่างครบถ้วน ในศาลโลกอีกด้วย
แต่กัมพูชาก็สามารถกล่าวอ้างเป็นชัยชนะได้เช่นกันในแง่ที่การหยุดยิงถาวรมีขึ้นจนได้ อันเป็นสิ่งที่ดำเนินการมาตลอดจนถึงระดับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก่อนจะนำกรณีพิพาทชายแดนเข้าสู่ศาลโลกโดยอ้างว่ากระบวนการต่างๆ ใต้กรอบของอาเซียนล่าช้า และการเจรจาสองฝ่ายกับไทยไม่เกิดผล
อย่างไรก็ตาม การหยุดยิงที่กัมพูชาต้องการ อาจจะมีขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนก่อนหน้านี้ หากพวกเขาตกลงถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทโดยสมัครใจและด้วยเหตุด้วยผล แทนที่จะถูกคำสั่งของศาลโลกบังคับเช่นในวันนี้.