xs
xsm
sm
md
lg

ศาลโลกสั่งตั้งเขตปลอดทหารจากผามออีแดงเลยภูมะเขือถึงช่องโอตาเซม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนผังที่ศาลโลกกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารจะครอบคลุมพื้นที่ตัวปราสาทพระวิหารทั้งหมด โดยด้านทิศเหนือตัวปราสาทกินพื้นที่ถึงถนนที่ตัดจากผามออีแดงขึ้นสุ่ตัวปราสาท, ด้านตะวันออกของปราสาทกินพื้นที่บริเวณหน้าผาทั้งหมด, ด้านทิศตะวันตกกินพื้นที่เลยภูมะเขือไปจนถึงช่องโอตาเซม ส่วนทางทิศใต้ของตัวปราสาทนั้นกินพื้นที่บริเวณขอบหน้าผาทั้งหมด
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศาลโลกตัดสินให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ตามแผนผังที่ศาลโลกกำหนดซึ่งกินอาณาบริเวณตั้งแต่ถนนจากผามออีแดงขึ้นสู่ตัวปราสาท ส่วนด้านทิศตะวันตกกินพื้นที่เลยภูมะเขือไปถึงช่องโอตาเซม และปฏิเสธคำขอของฝ่ายไทยที่ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ พร้อมกับห้ามไม่ให้ไทยขัดขวางทางขึ้นปราสาทพระวิหาร กระทรวงการต่างประเทศ แถลงพอใจผลตัดสินที่ให้ถอนทหารทั้งสองฝ่าย เร่งกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาแบบทวิภาคี

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งกรณีกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ไทยพอใจกับคำสั่งของศาลที่ออกมาตรการชั่วคราวให้มีผลใช้บังคับกับทั้งสองประเทศ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลกที่ต้องการให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวที่บังคับให้ไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ตามแผนที่ 1ต่อ 200,000 เพียงฝ่ายเดียว โดยศาลได้กำหนดให้มีพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว โดยให้ทั้งสองฝ่ายต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ รวมถึงการที่กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยเรียกร้องและสอดคล้องกับท่าทีของไทยที่มีมาโดยตลอด ทั้งนี้ การมีพื้นที่ปลอดทหารดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการพิจารณาการตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 และจะไม่กระทบอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของไทย

2. ศาลโลกยังมีคำสั่งให้กัมพูชาสามารถเข้า-ออกปราสาทพระวิหารเพื่อส่งกำลังบำรุงให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารในปราสาทได้ และให้ทั้งสองประเทศหารือกันโดยใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ได้แก่ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ซึ่งเป็นการสะท้อนท่าทีของไทยที่ได้แจ้งกับนานาประเทศมาโดยตลอด

3. นอกจากนี้ ศาลโลกยังขอให้ทั้งสองประเทศให้ความร่วมมือในกรอบของอาเซียนเพื่อให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ปลอดทหารตามที่ศาลโลกได้กำหนดไว้ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยได้เดินทางไปยังพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว และอยู่ระหว่างการแจ้งผลการลงพื้นที่ดังกล่าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียทราบ

4. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวอีกว่า ในเมื่อศาลโลกมีคำสั่งกำหนดพื้นที่ปลอดทหารแล้ว ชุดข้อตกลงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จึงหมดความหมายไปโดยปริยาย และจำเป็นต้องเอาคำสั่งของศาลโลกเป็นที่ตั้ง ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศว่าเมื่อศาลโลกมีคำสั่งออกมาเช่นไร กัมพูชาก็จะยึดเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนและปราสาทพระวิหารต่อไป

5. รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไปว่า ต้องรายงานผลการพิจารณาของศาลโลกให้นายกรัฐมนตรีทราบ และเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี รวมทั้งรายงานให้คณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาทราบด้วย สำหรับในรายละเอียดของการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลคงต้องมีการหารือระหว่างหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวด้วยว่า ไทยกับกัมพูชาคงต้องมีการหารือกันภายในกรอบของ GBC ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยได้เสนอมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในเบื้องต้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียแล้ว

6. รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบคำถามเกี่ยวกับแผนที่ที่ศาลกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชั่วคราวที่กำหนดไว้สำหรับการปฏิบัติการตามคำสั่งของศาล ซึ่งจะต้องนำไปกำหนดจุดบนแผนที่ต่อไป

7. ไทยเคารพข้อตัดสินของศาลโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ และไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติก็ต้องปฏิบัติตาม ในการนี้ ไทยและกัมพูชา รวมทั้งอินโดนีเซีย ต้องหารือกันเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำสั่งของศาลโลกต่อไป

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เวลา 15.00 น. (เวลาไทย) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก มีกำหนดอ่านคำพิพากษากรณีการออกมาตรการชั่วคราวกรณีกัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาตีความคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 โดยขอให้ (1) ไทยถอนกองกำลังทั้งหมดจากส่วนต่าง ๆ ในดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข (2) ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใด ๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ (3) ให้ไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ที่กระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีการตีความ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะผู้แทนไทยและที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศได้เดินทางไปให้ข้อมูลแก่ศาลโลกแล้วเมื่อวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2554

ทั้งนี้ หลังศาลโลกได้อ่านคำตัดสินเป็นเวลา 40 นาที ศาลโลก มีมติ ดังนี้

1. มติเอกฉันท์ 16:0 ปฏิเสธคำขอของไทยที่ขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ,
2. มติ 15:1 ห้ามไม่ให้ไทยขัดขวางทางขึ้นปราสาทพระวิหาร
3.มติ 11:5 ขอให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามคำสั่งศาล คือ ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกจากเขตปลอดทหาร และห้ามมิให้มีกิจกรรมทางการทหาร ตามพื้นที่ในแผนที่ที่ศาลกำหนด

สำหรับพื้นที่เขตปลอดทหารนั้น นายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ประเมินว่า อยู่ในเขตพื้นที่ 4.6 ตร.กม. แต่กินพื้นที่ประมาณ 3.7 ตร.กม.

สำหรับแผนที่บริเวณปราสาทพระวิหารที่ศาลสั่งให้เป็นเขตปลอดทหาร นั้น อธิบายได้ดังนี้ (ตามภาพ)
จุด A ละติจูด 14 องศา 23 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 41 ลิปดาตะวันออก
จุด B ละติจูด 14 องศา 24 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 38 ลิปดาตะวันออก
จุด C ละติจูด 14 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 38 ลิปดาตะวันออก
จุด D ละติจูด 14 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 104 องศา 42 ลิปดาตะวันออก

เมื่อพิจารณาจากแผนผังที่ศาลโลกกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหาร จะเห็นว่า ครอบคลุมพื้นที่ตัวปราสาทพระวิหารทั้งหมด กล่าวคือ
ด้านทิศเหนือตัวปราสาทกินพื้นที่ถึงถนนที่ตัดจากผามออีแดงขึ้นสุ่ตัวปราสาท
ด้านตะวันออกของปราสาทกินพื้นที่บริเวณหน้าผาทั้งหมด
ด้านทิศตะวันตกกินพื้นที่เลยภูมะเขือไปจนถึงช่องโอตาเซม
ส่วนทางทิศใต้ของต้วปราสาทนั้นกินพื้นที่บริเวณขอบหน้าผาทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศ ประเมินว่า อาจเป็นไปได้ว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมาใน 3 รูปแบบ กล่าวคือ (1) ศาลอาจปฏิเสธคำขอของกัมพูชาที่จะให้มีมาตรการชั่วคราว (2) ศาลอาจมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว แต่เป็นในลักษณะอื่นที่ศาลเห็นสมควรซึ่งต่างจากสิ่งที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล หรือ (3) ศาลอาจมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอทั้งหมด ซึ่งหลังจากนี้ คณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้หารือกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไป

***ศาลโลกสรุปคำขอของกัมพูชาและข้อโต้แย้งฝ่ายไทย

อนึ่ง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ได้สรุปการรับฟังความเห็นด้วยวาจาในคำขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของกัมพูชาอันเกี่ยวเนื่องมาจากคดีขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ว่า กัมพูชาได้เสนอคำร้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ขอให้ตีความคำพิพากษาในคดีพระวิหารและในคำขอนั้นได้มีการขอให้ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอย่างเร่งด่วน การไต่สวนด้วยวาจาทั้งสองรอบเมื่อวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2554 ฝ่ายกัมพูชา นำโดยนายฮอร์ นัม ฮง รมว.กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้แทนกัมพูชา ฝ่ายไทยนำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย

การให้ปากคำของทั้งสองฝ่ายนั้น ข้อสรุปของฝ่ายกัมพูชาในการให้ปากคำวันที่สอง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 นายฮอร์ นัม ฮง ได้ขอให้ศาลได้ออกมาตรการชั่วคราวดังต่อไปนี้ “หลังจากได้ยื่นเอกสารหลักฐานและการให้ปากคำด้วยวาจาของฝ่ายกัมพูชา โดยขอให้ศาลได้ทำการตีความข้อเท็จจริงของข้อขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายแล้ว กัมพูชา ได้ขอให้ศาลได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนทำคำพิพากษา ดังต่อไปนี้ 1.ให้ถอนกำลังทหารไทยออกจากเขตแดนของกัมพูชาในบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข 2.ให้ยุติกิจกรรมใดๆ ของประเทศไทยในบริเวณปราสาทพระวิหาร 3.ให้ประเทศไทยยุติกิจกรรมและการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของกัมพูชา หรือก่อให้เกิดข้อขัดแย้งเพิ่มเติมขึ้นอีก

ในการสรุปการให้การของฝ่ายไทย โดยนายวีรชัย พลาศรัย ได้สรุปต่อศาลให้นามของรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้ อิงตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และคำขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของฝ่ายกัมพูชา รัฐบาลไทยขอให้ศาลยกคำร้องของกัมพูชาที่ได้เสนอต่อศาลเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ออกไปจากสารบบ (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)

***ยกแรกตัดสินคำขอคุ้มครองชั่วคราว ยกสองสู้คดีตีความคำพิพากษา 2505

ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างไทย - กัมพูชา ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กัมพูชานำเรื่องขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 โดยกัมพูชาอาศัยมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีข้อพิพาทว่าด้วยความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลพึงตีความตามคำร้องของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” โดยมาตรา 60 อนุญาตให้กัมพูชายื่นได้โดยลำพัง ไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากไทยและไม่ได้กำหนดว่าต้องยื่นภายในระยะเวลาเท่าไร

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาข้อ 2 ข้อเดียว โดยขอให้ศาลวินิจฉัยและชี้ขาดว่าประเด็นที่ว่า “พันธะที่ประเทศไทยจะต้อง “ถอนกำลังทหาร หรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตของกัมพูชา (ตามข้อ 2 ของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเมื่อปี 2505) เป็นผลโดยตรงของการที่ไทยมีพันธะที่จะต้องเคารพต่อบูรณภาพของดินแดนของกัมพูชา ทั้งนี้ ดินแดนดังกล่าว อันเป็นที่ตั้งของปราสาทและบริเวณใกล้เคียง ได้ถูกปักปันตามเส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ (ซึ่งศาลได้เคยวินิจฉัยไว้ในหน้า 21 ของรายงานคำพิพากษา)”

แปลข้อความดังกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ กัมพูชาต้องการให้ศาลชี้ชัดว่า ที่ศาลเคยพิพากษาว่าไทยจะต้องถอนกองกำลังออกจากปราสาทพระวิหารและ “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) ในเขตกัมพูชานั้น ขอบเขตของ “บริเวณใกล้เคียง” ถูกกำหนดด้วยเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ เส้นเขตแดนตามแผนที่ในความหมายของกัมพูชาก็คือ แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ขณะที่ไทยโต้แย้งว่าเส้นเขตแดนต้องยึดเอาตามเส้นสันปันน้ำที่ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญา

สำหรับการตัดสินของศาลโลก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลวินิจฉัยความจำเป็นในการใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวตามคำขอของกัมพูชาหรือไม่ ส่วนการตีความคำพิพากษาปี 2505 คาดว่าศาลโลกจะนัดทั้ง 2 ฝ่าย ให้ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2554 และจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น