ผู้จัดการออนไลน์ -- กระบอกเสียงพม่ากลับลำยกย่องสุดๆ ทีมช่วยเหลือต่างประเทศที่เดินทางเข้าสู่เขตภัยพิบัติที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีตามคำมั่นของ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย หลังก่อนหน้านั้นเคยยืนยันเสียงแข็ง ว่า รัฐบาลช่วยประชาชนผู้ประสบเคราะห์ได้อย่างไม่บกพร่อง และไม่ต้องการความช่วยเหลือใดๆ จากภายนอก
ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเดินทางเข้าพม่าในวันอังคาร (27 พ.ค.) เป็นการทดสอบการปฏิบัติตามคำมั่นของรัฐบาลพม่าในการเปิดประเทศรับทีมบรรเทาทุกข์จากภายนอกเข้าไปยังที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีซึ่งมีผู้ประสบภัยว่า 1 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือแม้เหตุการณ์จะผ่านมานานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว
เจ้าหน้าที่จากต่างชาติจำนวน 6 คน ซึ่งประจำการอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ร่วมกับกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมในคณะทำงานของพม่าเพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดจากไซโคลนนาร์กิสพัดถล่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายขณะนี้กว่า 133,000 ราย
“เรารู้สึกยินดีอย่างมากที่สามารถนำทีมช่วยเหลือเข้าไปในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำ” นางชายทา โบลเมน (Shantha Bloemen) โฆษก UNICEF กล่าว
องค์กรการกุศลต่างๆ เช่น แพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders หรือ Medecins Sans Frontieres) ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากต่างชาติเข้าไปในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำเช่นเดียวกัน
ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ คนส่วนใหญ่ในจำนวนผู้ประสบภัยกว่า 2.4 ล้านคนยังคงต้องการอาหาร ที่พักและยารักษาโรค รวมทั้งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์บรรเทาทุกข์จากนานาชาติแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารพม่ายืนยันมาโดยตลอดว่าสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตัวเอง แต่สื่อของรัฐกล่าวยอมรับองค์กรช่วยเหลือต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติในวันอังคาร หลังจากที่มีการประชุมเพื่อระดมเงินช่วยเหลือจากนานาชาติในกรุงย่างเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 พ.ค.)
“องค์การสหประชาชาติและองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ มีความพร้อมในการขนส่งความช่วยเหลือและการบูรณะซ่อมแซมที่พักอาศัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ” หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ซึ่งเป็นของรัฐบาล กล่าว
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ กล่าวต่อว่า “การให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหาร เสื้อผ้ารวมทั้งที่พักอาศัยแก่ผู้ประสบเคราะห์นั้นจะดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ และการบูรณะซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่มีทักษะความชำนาญ”
“ด้วยความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาติ อาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศ เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถฟื้นฟูความเสียหายจากพายุได้อย่างรวดเร็วที่สุด” หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว
จากการประชุมเพื่อระดมเงินช่วยเหลือซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติและอาเซียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถรวบรวมเงินบริจาคจากนานาชาติได้นับสิบๆ ล้านดอลลาร์
เงินช่วยเหลือดังกล่าวมาพร้อมกับสารที่ชัดเจนแก่รัฐบาลทหารพม่า ว่า ความช่วยเหลือจากนานาชาตินั้นจะขึ้นอยู่กับการเปิดทางให้ทีมช่วยเหลือเข้าไปในเขตภัยพิบัติ
นายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ได้ยืนยันกับตนถึงการอนุมัติให้ทีมช่วยเหลือจากภานนอกเข้าไปในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก หมู่บ้านถูกพายุพัทำลายและยังคงไม่สามารถใช้ถนนในการเดินทางเข้าไปได้
ผู้ประสบภัยจำนวนมากต้องมายืนตามข้างถนนเพื่อขออาหารจากผู้ที่มาบริจาคซึ่งขับรมมาจากกรุงย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ เพื่อมาแจกจ่ายความช่วยเหลือด้วยตัวเอง
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ผู้ที่เดินทางมาให้ความช่วยเหลือบางคนได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ว่าใบขับขี่ของพวกเขาอาจจะถูกระงับถ้ายังคงแจกจ่ายอาหารให้แก่ผู้ประสบเคราะห์
“ประชาชนควรจะต้องหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง พวกเขาควรที่จะกลับไปยังบ้านของตนเอง และเราไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติคิดว่าเราเป็นประเทศขอทาน” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าว
ตามข้างทางที่มุ่งไปยังเมืองเดะเดย์ (Dedaye) เหยื่อพายุหลายร้อยคนได้พยายามวิ่งเข้าหารถที่วิ่งผ่านไปมา โดยหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือแม้กระทั่งเศษอาหารชิ้นเล็กๆ