ผู้จัดการออนไลน์ -- หายหน้าหายตาไปนาน นับตั้งแต่ออกเป็นข่าวทางโทรทัศน์ตอนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา จู่ๆ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำสูงสุดพม่า ก็โผล่ออกทีวีอีกครั้งหนึ่งในภาคค่ำวันศุกร์ (16 พ.ค.) ขณะไปเยี่ยมเยือนประชาชนผู้ประสบภัยจากพายุในกรุงย่างกุ้ง
ภาพที่ปรากฏออกสู่สายตาประชาชนนั้น ผู้นำวัย 75 ปี ดูท่าทางกระฉับกระเฉง ทำไม้ทำมือประกอบคล่องแคล่ว ขณะวางแผนช่วยเหลือกู้ภัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราว โดยมีขุนทหารรายรอบ รวม ทั้ง พล.อ.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรีพม่าด้วย
พล.อ.ตานฉ่วย ไม่เคยออกปรากฏตัวเยี่ยมเยือนผู้ประสบเคราะห์เลย นับตั้งแต่พายุนาร์กีส พัดถล่มวันที่ 2-3 พ.ค.หรือกว่า 2 สัปดาห์มาแล้ว การออกโทรทัศน์ครั้งนี้มีขึ้นขณะที่ทางการกำลังพยายามใช้สื่อปูพรมภาพ และข่าวที่ฝ่ายทหารออกเยี่ยมเยือนช่วยเหลือประชาชน บ้างก็เป็นภาพที่ประชาชนเข้าแถวยาวรับความช่วยเหลือ สีหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม
ทางการพม่ากำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศให้ต้องเปิดรับความช่วยเหลืออย่างกว้างขวาง และรับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยเข้าไปปฏิบัติงาน โดยเจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่าประชาชน 2-2.5 ล้านคน กำลังอดอยาก ไร้ที่พักพิง และเผชิญกับโรคระบาด ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ แม้ว่าพายุจะผ่านพ้นไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ก็ตาม
วันศุกร์ที่ผ่านมาโทรทัศน์พม่าได้รายงานตัวเลขเหยื่อพายุนาร์กิสเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 เท่าตัว โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 77,000 คน กับอีกกว่า 55,000 คนยังสูญหาย
ในคืนวันศุกร์เช่นเดียวกันสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวได้เผยภาพพลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำคณะทหารวัย 75 ปี ที่กำลังเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ค่ายพักชั่วคราวนอกกรุงย่างกุ้ง หลังจากเดินทางมาถึงเมืองนี้ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน โทรทัศน์พม่านำภาพออกอากาศซ้ำอีกครั้งหนึ่งในภาคค่ำวันอาทิตย์ (18 พ.ค.)
ย่างกุ้งเป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของพม่าก่อนหน้าที่ พลเอกอาวุโส ตานฉ่วย จะย้ายที่ทำการของรัฐบาลไปยังเมืองเนย์ปิดอเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
รายงานของสถานีโทรทัศน์ไม่ได้กล่าวว่า พล.อ.ตานฉ่วย จะเดินทางเข้าไปยังบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดหรือไม่
พล.อ.ตานฉ่วย ไปถึงยังกรุงย่างกุ้งก่อนหน้าที่ นายจอห์น โฮล์มส์ (John Holmes) รองปลัดทบวงด้านมนุษยธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ จะเดินถึงพม่าในวันอาทิตย์เพื่อเจรจาให้รัฐบาลทหารเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากขึ้น
คณะปกครองทหารยอมรับความช่วยเหลือจากต่างชาติในรูปแบบสิ่งของบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ และเงิน แต่ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นที่ไม่ยอมอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านภัยพิบัติจากภายนอกเดินทางเข้าประเทศเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิตกว่า 2 ล้านคน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า สิ่งของช่วยเหลือยังคงกองพะเนินอยู่ที่สนามบินกรุงย่างกุ้ง มีจำนวนน้อยนิดที่ตกไปถึงมือประชาชนในเขตภัยพิบัติรุนแรงที่ต้องการมากที่สุดในขณะนี้
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวว่า พม่าขาดแคลนพาหนะที่จำเป็นทุกอย่างที่จะนำอาหาร น้ำดื่มสะอาดและอุปกรณ์ยังชีพพื้นฐานไปให้ถึงมือประชาชนในเขตภัยพิบัติใหญ่คือที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งมีเพียงเรือกับเฮลิอปเตอร์เท่านั้นที่จะทำได้
พระสังฆราชเดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) แห่งแอฟริกาใต้ และรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสนายแบร์นาร์ด คูชเนอร์ (Bernard Kouchner) กล่าวว่า คณะปกครองทหารอาจจะต้องรับผิดชอบก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เนื่องจากปิดกั้นการช่วยเหลือซึ่งอาจจะทำให้มีที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติ ล้มตายลงอีกจำนวนมากมาย