xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กตายเกลื่อน” ภาพรบกวนจิตใจชาวโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000>ภาพถ่ายหนึ่งในจำนวนหลายภาพที่องค์การ Delta Tears ซึ่งเป็นองค์การพัฒนาภาคเอกชนไม่สังกัดรัฐบาลหรือเอ็นจีโอนำออกเผยแพร่โดยระบยุว่าเป็นถ่ายจากเขตเมืองเบ๊าะกาเลย์ (Bokalay) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีหลังพายุนาร์กิสพัดหระน่ำ </FONT></CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์ - ภาพเด็กๆ ที่ล้มตายในเหตุการณ์ภัยพิบัติไซโคลนนาร์กีส ได้กลายเป็นภาพที่ติดตาคอยรบกวนจิตใจกับความรู้สึกของประชาคมระหว่างประเทศ ในขณะที่ไม่สามารถที่จะส่งความช่วยเหลือไปถึงเด็กๆ อีกนับแสนๆ คนที่รอดชีวิตและกำลังต้องการอาหารอย่างมากในขณะนี้

องค์การยูนิเซฟ และองค์การ Save the Children จากอังกฤษ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในเขตภัยพิบัติในพม่า กล่าวว่า ราว 40-50% ของเหยื่อพายุนาร์กีสเป็นเด็กๆ ที่ไร้เดียงสา

ถึงแม้ว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีการเผยแพร่ภาพศพผู้ใหญ่จำนวนมากที่ถูกทิ้งให้ขึ้นอืดและเน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติใต้แสงแดดที่แผดร้อนในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี แต่ก็มีการเผยแพร่ภาพเด็กๆ ที่เสียชีวิตน้อยมาก

2 สัปดาห์ผ่านไป ทางการพม่ายังคงรับการช่วยเหลือจากภายนอกอย่างจำกัด และให้ส่งอาหาร น้ำดื่ม และอุปกรณ์ยังชีพต่างๆ ไปถึงผู้ประสบเคราะห์ในเขตภัยพิบัติน้อยมาก สิ่งของทุกอย่างที่ประชาคมระหว่างประเทศส่งไปช่วยเหลือ ต้องไปผ่านระบบราชการและขบวนการตรวจตราที่อืดอาดยืดยาดของทางการที่สนามบินกรุงย่างกุ้ง การช่วยเหลือทำได้แค่เพียงในเขตรอบๆ เมืองหลวงเก่า

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวว่า 2 สัปดาห์ผ่านไป การส่งสิ่งของช่วยเหลือต่างๆ ก็เป็นไปอย่างล่าช้าไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ทุกฝ่ายแข่งกับเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิต

อาหารกับความช่วยเหลือเพียงจำนวนเพียงน้อยนิดตกไปถึงเหยื่อพายุที่กำลังหิวโหยในเขตที่ราบปากแม่น้ำอันกว้างใหญ่ และทางการพม่าขาดแคลนพาหนะในการขนส่ง ซึ่งจะมีเพียงเรือกับเฮลิคอปเตอร์เท่านั้นที่สามารถขนส่งสิ่งของต่างๆ ไปยังผู้ประสบภัยได้

ถึงวันนี้รัฐบาลทหารพม่าก็ยังปฏิเสธที่จะรับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือกู้ภัยที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ให้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ขณะที่สหประชาชาติกล่าวว่าประชาชนราว 2-2.5 ล้านคนกำลังอดอยาก ไร้ที่พักพิงและกำลังเผชิญกับโรคระบาด

นักการทูตสหรัฐฯ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการสำรวจเขตภัยพิบัติซึ่งจัดโดยทางการพม่าในวันเสาร์ ได้แถลงในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์ (18 พ.ค.) ยืนยันว่าผู้รอดชีวิตจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้นใดๆ ทั้งสิ้น และหวังว่าทางการพม่าจะเปิดรับการช่วยเหลือจากต่างชาติกว้างขวางยิ่งขึ้น

“ผู้คนจำนวนไม่มากที่ได้ไปเห็น ยังไม่สามารถทำให้ดิฉันคลายความวิตกกังวลที่ว่ายังมีผู้คนจำนวนมากมายที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ เลย ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำสะอาด” นางชารี วีญญาโรซา (Shari Villarosa) อุปทูตสหรัฐฯ กล่าว
<CENTER><FONT color=#FF0000>อีกภาพหนึ่งของ Delta Tears ถ่ายจากเมืองเบ๊าะกาเลย์ เช่นเดียวกัน และถ้าหากตัวเลขประมาณการของหน่วยงานสหประชาชาติถูกต้อง พายุนาร์กิสก็อาจจะทำให้เด็กเสียชีวิต 40,000-56,000 คน ในวันที่ 2-3 พ.ค.ที่ผ่านมา </FONT></CENTER>
<CENTER><FONT color=#FF0000>สู้ชีวิตอย่างเดียวดาย-- ภาพถ่ายวันที่ 13 พ.ค.ที่หมู่บ้านใกล้กับเมืองเบ๊าะกาเลย์ เด็กชายคนนี้เดินทางรอนแรมอย่างเดียวดาย พ่อแม่เสียชีวิต กระป๋องแกลลอนบรรจุน้ำที่ถือไปด้วยว่างเปล่า เวลาผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ยังมีเด็กๆ นับหมื่นนับแสนที่ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลและกำลังสู้ชีวิตตามลำพัง (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า เริ่มมีผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรคมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีเด็กๆ ที่รอดชีวิตจากพายุอีกราว 20% ล้มป่วยเป็นโรคท้องร่วง เด็กๆ จำนวนมากกำลังหิวโหยอยู่ในเขตที่ราบปากแม่น้ำ ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสูงขึ้นอีก

โทรทัศน์ทางการพม่ารายงานเมื่อวันศุกร์ (16 พ.ค.) เพิ่มจำนวนเหยื่อในเหตุการณ์วันที่ 2-3 พ.ค.ขึ้นอีก 1 เท่าตัว เป็นผู้เสียชีวิตกว่า 77,000 คน กับอีกกว่า 55,000 คนยังสูญหาย

ประชาคมระหว่างประเทศต่างหมดความอดกลั้นกับการดื้อรั้นของทางการพม่า เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การปิดกั้นรับการช่วยเหลือของระบอบปกครองทหารจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และ เสี่ยงที่จะเข้าข่ายเป็นการ “ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นเรื่องมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ไม่มีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวข้อง แต่การปิดกั้นความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศของรัฐบาลทหาร อาจจะทำให้เกิดประเด็นทางการเมืองขึ้นมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น