ผู้จัดการรายวัน -- นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ประกาศเลิกแผนการเดินทางไปพม่าอย่างกะทันหันเมื่อบ่ายวันศุกร์ (9 พ.ค.) หลังจากคณะปกครองทหารประเทศนั้นประกาศไม่รับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเข้าไปปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยโดยบอกแต่เพียงว่า “ไม่พร้อม”
นายสมัคร ให้สัมภาษณ์ในตอนเช้าวันเดียวกันว่า แผนการทุกอย่างจัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว โดยจะเดินทางในวันอาทิตย์ (11 พ.ค.) นี้ แต่เพียงอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการยกเลิกการเดินทาง
ในเช้าวันเดียวกันว่า นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยก็ได้ให้สัมภาษณ์ในกรุงโตเกียว หระเทศญี่ปุ่นระบุว่าพม่า “ยืดหยุ่น” มากขึ้น และพร้อมที่จะรับความช่วยเหลือจากภายนอกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศพม่ากล่าวว่า ทางการพม่าพร้อมที่จะรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อช่วยผู้ที่รอดชีวิต แต่ไม่พร้อมที่จะรับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปปฏิบัติงาน และไม่พร้อมที่จะต้อนรับสื่อจากต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์ตอนบ่ายว่า ได้ยกเลิกการเดินทางไปพม่าแล้วและได้เปลี่ยนแผนโดยส่งหนังสือถึงนายกฯ พม่าแทน ผ่านสถานทูตในกรุงเทพฯ เนื่องจากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเจรจาใดๆ อีก
สำนักข่าวเอเอฟพีได้อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทยผู้หนึ่งซึ่งระบุว่า พล.อ.เต็งเส่ง (Thein Sein) นายกฯ พม่าไม่พร้อมที่ไปพบกับ นรม.ของไทยที่เมืองหลวงใหม่เนย์ปีดอ เนื่องจากกำลังออกเยี่ยมเยือนประชาชนที่ประสบภัยในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ
ในภาพที่สำนักข่าวทางการพม่า นำออกแจกจ่ายและเผยแพร่โดยเอเอฟพีนั้น ในวันที่ 6 พ.ค. พล.อ.เต็งเส่ง ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ต่อมาในวันที่ 7-8 พ.ค. ได้ปรากฏตัวเยี่ยมเยือนประชาชนในเขตกรุงย่างกุ้ง แต่ไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของนายกฯ พม่าอีกในวันถัดมา
จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทย ฝ่ายพม่าได้อ้างภารกิจดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้ พล.อ.เต็งเส่งไม่สามารถไปพบหารือกับผู้นำของไทยในเมืองเนย์ปีดอได้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้นำของไทยทำได้ก็คือ ยื่นเป็นหนังสือถึงผู้นำพม่าโดยผ่านช่องทางปกติ
นายสมัคร ได้แจ้งให้ทางการพม่าทราบผ่านทางหนังสือดังกล่าวให้ทราบว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ปักหลักในกรุงเทพฯ เตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือ ให้ประชาชนที่ประสบเคราะห์อย่างน้อย 600,000 คน ได้มีอาหารบริโภคนานติดต่อกันถึง 6 เดือนแต่ยังติดขัดปัญหาเรื่องวีซ่าและการต้องนำยานพาหนะขนส่งสิ่งของช่วยเหลือเข้าพม่า
ความเคลื่อนไหวทางการทูตที่ผู้นำไทยพยายามเข้าแสดงบทบาท “ทูตลิ้นทอง” หรือเป็น “กาวประสานใจ” ระหว่างคณะปกครองทหารพม่ากับสหรัฐฯ นี้ พันตูมาตั้งแต่วันก่อนหน้านั้น
ในวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นายเอริค จอห์น (Eric John) ได้เข้าพบหารือกับ นรม.ของไทยซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ฝ่ายสหรัฐฯ ขอให้ไทยช่วยเจรจาผู้นำพม่าให้ยอมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
ต่อมาตอนวันเดียวกัน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายไทยได้ช่วยสหรัฐฯ เจรจาพม่าจนประสบความสำเร็จ ฝ่ายพม่า “โอเค” ยอมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แล้ว..
แต่ในเวลาไล่เลี่ยกันเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นายเอริค จี จอห์น (Eric G John) ได้นัดสื่อมวลชนเปิดสถานทูตแถลงข่าวเวลา 14.00 น.และต่อมาได้เลื่อนออกไปอีกครั้งหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าได้พยายามรอคอยคำตอบจนถึงนาทีสุดท้าย จนกระทั่งถึงเวลา 18.00 น.
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แจ้งให้สื่อจากทั่วโลกทราบว่า ยังไม่สามารถส่งความช่วยเหลือไปให้แก่ประชาชนพม่าได้และที่ผ่านมาไม่ทราบว่า “เป็นความเข้าใจผิด” หรือว่า “พม่าได้ถอนความตั้งใจ” ไปแล้ว
โฆษกรัฐบาลไทยแถลงในวันเดียวกันว่า นรม.ของไทยจะเดินทางไปเจรจาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง หากการพูดจาทางโทรศัพท์กัยฝ่ายพม่าไม่ได้ผล และ นรม.ของไทยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้อย่างมั่นใจในเช้าวันรุ่งขึ้น..
พล.อ.เต็งเส่ง เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-1 พ.ค.ในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้เปิดบ้านพัก ลงมือทำอาหารด้วยตัวเอง จัดเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ พม่ากับคณะอย่างสนิทสนม
พล.อ.เต็งเส่ง เดินทางกลับพม่าเพียงวันเดียว ไซโคลนนาร์กีสก็ได้พัดกระหน้ำเข้าภาคตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงวันนี้เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะถึง 100,000 คน แม้ว่าทางการจะคงตัวเลขไว้เพียงประมาณ 30,000 คนก็ตาม