ผู้จัดการออนไลน์ -- ชาวบ้านจำนวนมากบอกกับสำนักข่าวต่างประเทศ ว่า พวกเขารู้สึกโกรธเคืองรัฐบาลที่จัดให้ไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันเสาร์ (10 พ.ค.) ทั้งๆ ยังมีคนกำลังหิวโหยที่อยู่รอบๆ ข้างเป็นจำนวนมาก และผู้ประสบภัยที่อพยพเข้าถึงตัวเมืองจำนวนนับร้อยๆ ยังไม่มีที่พักพิง
ขณะเดียวกัน ชาวพม่าในเขตรอบนอกกรุงย่างกุ้งหลายคนบอกว่า ฝ่ายทหารได้ขอให้ลงคะแนน “รับ” ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ชาวพม่าที่กำลังหิวโหยจำนวนมากได้เข้าไปถึงเขตที่ทางการจัดให้มีการลงประชามติเมื่อวันเสาร์ คนเหล่านั้นสูญเสียสมาชิกครอบครัวและไม่มีที่อาศัย
ที่เมืองพะสิม (Pathein) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ผู้มีสิทธิ์จำนวนหลายสิบคนไปที่คูหาเลือกตั้งแต่เช้าเกือบจะทันทีที่เปิดทำการ ไม่ไกลออกไปตามถนนสายเดียวกันชาวบ้านอีกหลายร้อยคนที่เดินทางเข้าถึงตัวเมืองอย่างสิ้นหวังกำลังช่วยกันสร้างเพิงพักขึ้นที่สนามฟุตบอล
ทางการพม่าไม่ฟังเสียงคัดค้านจากฝ่ายใด และจัดให้มีการลงประชามติตามกำหนดการท่ามกลางเสียงเตือนว่า หากไม่รีบส่งความช่วยเหลือไปให้ประชาชนที่อยู่ในประสบภัยพิบัติจากพายุนาร์กิสเมื่อ 8 ก่อนจะมีผู้คนเสียชีวิตอีกนับแสนๆ
“ชาวบ้านจำนวนมากพากันโกรธกริ้วรัฐบาลเมื่อได้เห็นเหยื่อพายุเข้าถึงตัวเมือง หลายคนยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ ที่หมู่บ้าน” ตั้งแต่พายุเข้าพัดกระหน่ำทำลายบ้านเรือนและทุกสิ่งทุกอย่างเจ้าของร้านน้ำชาวัย 40 ปี คนหนึ่งกล่าว
“ชาวบ้านไม่ได้สนใจที่จะไปออกเสียงอะไรทั้งสิ้น ตอนนี้ทุกคนห่วงแต่พวกที่ประสบภัย..” และ “หลายคนเกลียดชังรัฐบาล การช่วยเหลือประชาชนล่าช้ามาก” ชายวัยกลางคนกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ชายอีกคนหนึ่งบอกว่าเขาจะลงคะแนน “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว
“ตอนไปหย่อนบัตรผมนึกถึงแต่พระ เพราะผมเป็นชาวพุทธ ผมจะไม่สนับสนุนรัฐบาลที่ฆ่าพระสงฆ์” ชายวัย 48 ปี ที่ขายหมากกับใบพลูกล่าว
แม้แต่ชาวบ้านที่รอดจากพายุโดยไม่ได้บาดเจ็บหรือไม่มีการสูญเสีย ก็ยังกล่าวว่า การลงประชามติควรจะเป็นเรื่องหลังจากการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม และสำหรับตัวเขาเองจะต้องไปขายผลไม้ก่อน จึงจะไปลงคะแนนในตอนบ่าย
“ผมต้องหาเงินก่อนครอบครัวถึงจะอยู่ได้ ผมจะไปลงคะแนนหลังจากที่มีเงินพอซื้อข้าวแล้วเท่านั้น” ชายคนเดียวกันกล่าว
ที่คูหาลงคะแนนทางตอนเหนือของกรุงย่างกุ้งหญิงคนหนึ่งไปที่นั่นพร้อมน้ำตานองหน้า เธอกล่าวว่าครอบครัวของเธอในหมู่บ้านถัดไปถูกพายุทำลายเสียหาย คนทั้งบ้านกำลังดิ้นรนหาที่พักพิงใหม่
เธอบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้หย่อนบัตรลงคะแนน และเธอได้กาช่อง “รับ” เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ทำเช่นนั้น เธอไม่ได้รู้อะไรมากเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศเลื่อนการลงประชามติในหลายเขตภัยพิบัติออกไป โดยจะให้ลงคะแนนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เลื่อนออกไปทั้งหงมด และหันไปช่วยประชาชนเรือนล้านที่กำลังรอคอยอาหารกับน้ำดื่มในเขตชนบทที่ห่างไกลออกไป