xs
xsm
sm
md
lg

"สมัคร" หนังหน้าไฟช่วยสหรัฐกล่อมพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน— นายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช ได้รับบทบาทเป็นหนังหน้าไฟเจรจาผู้นำพม่าให้ยอมรับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ โดยพร้อมที่จะเดินทางไปพบผู้นำทหารถึงกรุงย่างกุ้งอีกครั้งหากการพูดคุยทางโทรศัพท์ไม่ประสบความสำเร็จ

ความพยายามของนายกรัฐมนตรีไทยมีขึ้น ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้ออกวิจารณ์ทางการพม่าที่ปิดกั้นความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างเทศเพื่อช่วยบรรเทาทุกให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยนับๆ ล้าน หลังจากไซโคลนนาร์กิสเจข้าทำลายล้างเมื่อสุดสัปดาห์ และเชื่อว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 100,000 คน

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อเวลา 15.00 น. ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมไทย เป็นการเร่งด่วน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าสหรัฐฯ มีความประสงค์จะเข้าไปช่วยประชาชนพม่า

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า สหรัฐฯ ขอความร่วมมือจาก นรม.ของไทยช่วยเจรจาผู้นำของพม่า เรื่องวีซ่าสำหรับเจ้าหน้าที่กับการขนส่งทางอากาศ เพื่อนำอาหารกับความช่วยเหลือต่างๆ ไปยังพม่า ขณะที่ผู้ประสบเคราะห์กำลังต้องการอย่างเร่งด่วน

รัฐบาลไทยจะติดต่อกับรัฐบาลพม่าเพื่อแจ้งความปรารถนาของสหรัฐฯ และหากว่าผู้นำพม่ามีปัญหาหรือการเจรจาทางโทรศัพท์ไม่ได้ผล นายกฯ จะเดินทางไปพม่าด้วยตนเอง เพื่อเข้าพบกับผู้นำพม่าเพื่อเจรจาเรื่องความช่วยเหลือสนามบินกรุงย่างกุ้งอีกด้วย โฆษกของไทยกล่าว

หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งจีนและกลุ่มอาเซียนได้เพิ่มแรงกดดันต่อคณะปกครองทหารพม่า เพื่อให้รับความช่วยเหลือจากโลกภายนอก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญการช่วยเหลือกู้ภัยในสังกัดองค์การประชาติกว่า 100 คน ยังคงรอวีซ่าเดินทางเข้าพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี

"เราหวังว่าพม่าจะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศและปรึกษาหารือกับประชาคมระหว่างประเทศ" นายฉินกัง (Qin Gang) โฆษกกระทรวงการต่างประจีนกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.)

ขณะเดียวกันกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้ออกเรียกร้องถึงความจำเป็นที่การช่วยเหลือจากนานาชาติจะต้องเข้าไปยังผู้ประสบภัยในพม่าอย่างด่วนที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเปิดรับ

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าท่าทีของจีนและอาเซียนได้แสดงความอดทนที่มีน้อยลงต่อความพยายามหน่วงเหนี่ยว มิให้ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนนับล้านๆ ที่กำลังประสบความยากลำบากเนื่องจากขาดอาหาร น้ำดื่มและไม่มีที่อาศัย

นางชารี วีญญาโรซา (Shari Villarosa) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงย่างกุ้งได้อ้างตัวเลขการประเมินของหน่วยงานระหว่างประเทศแห่งหนึ่งระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 100,000 คน หลังจากพายุนาร์กิสพัดกระหน่ำทำลายเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีกับกรุงย่างกุ้งเสียหายอย่างหนักในคืนวันศุกร์และเช้าวันเสาร์ (2-3 พ.ค.)

แต่โทรทัศน์ทางการพม่า (MRTV) รายงานในภาคค่ำวันพฤหัสบดีนับจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเพียง 17 คน รวมเป็น 22,997 คน อีก 1,430 คนบาดเจ็บและ 42,229 คนสูญหาย

ตัวเลขนี้สร้างความแปลกใจให้แก่หลายฝ่าย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารผู้นำนะดับท้องถิ่นในเขตปากแม่น้ำอิรวดีผู้หนึ่งบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ตามหมู่บ้านหลายสิบแห่งใกล้กับลาบุตตา (Labutta) มีราษฎรถูกคลื่นสูง 4-6 เมตรกวาดลงทะเลไปประมาณ 80,000 คน

หน่วยงานช่วยเหลือกู้ภัยแห่งหนึ่งในเยอรมนีที่เคยส่งผู้ปฏิบัติงานไปช่วยเหลือชาวพม่าในเขตอิรวดีเมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิปลายปี 2547 ประเมินว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากพายุนาร์กิสน่าจะมีกว่า 50,000 คน

เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ความสูญเสียด้านอาหารที่เกิดจากไซโคลนนาร์กิสนั้น มีระดับความรุนแรงกว่าความเสียหายจากคลื่นสึนามิเมื่อกว่า 4 ปีก่อน เนื่องจากเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีเป็นเขตอู่ข้าวสำคัญและยังเป็นเขตที่มีการเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ของประเทศ

แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลทหารก็ยังคงรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างระมัดระวัง ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานสหประชาชาติกว่า 100 คนจากต้นทางในหลายประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟที่จะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือแก่เด็กๆ ที่ประสบภัย ยังคงรอวีซ่าเข้าพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี

อย่างไรก็ตามท่ามกลางแรงกดดันในวันพุธที่ผ่านมาสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ ได้ยอมออกวีซ่าเข้าเมืองให้แก่ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานประสานความร่วมมือด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ จำนวน 4 คน เพื่อเข้าไปประเมินสำรวจความเสียหาย เพื่อเตรียมการช่วยเหลือ

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 คนเป็นชาวเอเชีย และคนที่ 5 ที่ไม่ใช่คนเอเชียยังคงรอวีซ่าต่อไป นาง อลิซาเบ็ธ บีร์ส (Alisabeth Byrs) โฆษกสำนักงานดังกล่าวในกรุงเทพฯ เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้

นางบีร์สกล่าวด้วยว่า สหประชาชาติได้ให้การช่วยเหลือเบื้องแรกแก่พม่าเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์เป็นทุนกองกลางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ขณะที่องค์การกาชาดสากลกำลังระดมเงินอีกหลายล้านดอลลาร์เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์

เครื่องบินบรรทุกความช่วยเหลือพร้อมผู้เชี่ยวชาญขององค์การเอกชนในสวิตเซอร์แลนด์แห่งหนึ่งไปถึงกรุงย่างกุ้งในวันพฤหัสบดี นับเป็นผู้เชี่ยวชาญตะวันตกชุดแรกที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าพม่า

ขณะเดียวกันเที่ยวบินบรรทุกอาหารและอุปกรณ์ช่วยเหลือของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Programme) จากอิตาลีก็ได้เดินทางถึงย่างกุ้งในวันเดียวกัน

แต่ก่อนหน้านั้น WFP โปรแกรมได้ขนอาหารที่ให้พลังงานสูงจากกรุงเทพฯ ไป 1 เที่ยวบินแล้ว เช่นเดียวกันกับความช่วยเหลือจากไทย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น บังกลาเทศและรัสเซีย

อย่างไรก็ตามทางการพม่ายังไม่อนุญาตให้เที่ยวบินบรรทุกความช่วยเหลือ และผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือและกู้ภัยจากปลายทางอื่นๆ จำนวนมากเข้าประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากจากยุโรปที่เคยเข้าไปช่วยกู้ภัยคลื่นสึนามิ 4 ปีก่อน

สำหรับ WFP แม้ว่าว่าเครื่องบินบรรทุกอาหารและสิ่งของจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ากรุงย่างกุ้งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเครื่องมือที่จำเป็นหลายชนิดเข้าไป รวมทั้งรถโฟล์คลิฟท์สำหรับยกของ เรือกับเครื่องปั่นไฟด้วยและยังไม่มีคำอธิบาย

ในวันพฤหัสบดี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยเปิดเผยว่า ไทยได้ช่วยเจรจาเพื่อให้ทางการพม่ารับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เป็นผลสำเร็จ

แต่เวลาต่อมานายเอริค จี จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ได้เปิดการแถลงข่าวแจ้งว่า ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือใดๆ ไปพม่าได้โดยยังไม่ทราบว่าเป็นความเข้าใจผิดกัน หรือเนื่องจากฝ่ายพม่าเปลี่ยนความตั้งใจ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวเมื่อวันอังคารเรียกร้องให้พม่ายอมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นเงินสดกว่า 3,250,000 ดอลลาร์ และความช่วยเหลือด้านการกู้ภัย

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลีซซ่า ไรซ์ ออกเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันพุธระบุว่า เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องง่ายๆ ปกติธรรมดา "มันไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่เป็นประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรม"

นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติเป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกเรียกร้องให้ทางการทหารพม่ารับความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนได้เรียกร้องในกรุงจาการ์ตาให้รัฐบาลพม่ารับความช่วยเหลือจากนานาชาติ “ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้”

เวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ของอาเซียนกับเจ้าหน้าที่ประเทศคู่สนทนารวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้เปิดประชุมหารือกันในสิงคโปร์ ก่อนจะออกคำแถลงเรียกร้องให้พม่าเปิดรับความช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆ ที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว

วันพฤหัสบดีเช่นกัน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสได้ร่วมกันออกวิจารณ์การปิดกั้นความช่วยเหลือของรัฐบาลทหารพม่า ขณะเดียวกันก็ตั้งหน้าตั้งตาจะจัดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่อไป โดยไม่เอาใจใส่ต่อปัญหามนุษยธรรมอย่างจริงจัง

“เราเชื่อว่ามันเป็นเวลาที่ (พม่า) จะต้องให้ความสำคัญอันดับแรกในการตอบสนองต่อวิกฤตการด้านมนุษยธรรม ตอนนี้ยังไม่ใช่ที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ”

นายเดวิด มิลิบานด์ รมว.ต่างประเทศอังกฤษ กับนายแบร์นาร์ด คูชเนอร์ รมว.ต่างประเทศฝรั่งเศส ระบุดังกล่าวในบทความชิ้นหนึ่งที่ร่วมกันเขียน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “เดอะไทมส์” ในอังกฤษ และ เลอ มองด์ ในฝรั่งเศส

ในวันพุธนายคูชเนอร์ได้เสนอให้สหประชาชาติใช้เวทีคณะมนตรีความมั่น (UN Security Council) คงกดดันให้พม่ารับการช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็เป็นสมาชิกถาวรของ UNSC
กำลังโหลดความคิดเห็น