xs
xsm
sm
md
lg

อู่ข้าวอู่น้ำล่มจม..พายุพม่าป่วนวิกฤตอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> ภาพถ่ายวันที่ 6 พ.ค.2551 โดยนักบินเครื่องบินทหาร C-130 กองทัพอากาศไทย ที่นำความช่วยเหลือไปยังพม่า แสดงให้เห็นผืนนาข้าวกว้างใหญ่ใกล้กับสนามบินกรุงย่างกุ้งอยู่ใต้ผืนน้ำที่พายุนาร์กิสทิ้งเอาไว้ (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน-- ไซโคลนนาร์กิสที่พัดทำลายเข้าเขตอู่ข้าวอู่น้ำของพม่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากำลังจะเปลี่ยนพม่าจากประเทศผู้ส่งออกข้าว เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าข้าว ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมวิกฤติอาหารโลก

เจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ได้แสดงความวิตกกังวลเรื่องนี้ในวันอังคาร (6 พ.ค.) ที่ผ่านมา ขณะที่ของทางการกล่าวว่าพบศพผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 15,000 คน กับอีก 30,000 คนสูญหายไปในภัยพิบัติ และมีแนวโน้มว่าจำนวนจะเพิ่มสูงขึ้น

พายุได้ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและยังหอบเอาน้ำเค็มจากอ่าวเบงกอลเข้าสู่นาข้าว สามารถสร้างความไม่มั่นคงด้านอาหารขึ้นมาในพม่าและประเทศเพื่อนบ้านเอเชีย นายพอล ริสลีย์ (Paul Risley) กล่าวเตือนเรื่องนี้

ยังไม่สามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับสภาพการณ์ด้านอาหารได้อย่างสมบูรณ์ในขณะนี้ เนื่องจากถนนหนทางถูกตัดขาด การสื่อสารไม่สามารถใช้การได้ แต่นายริสลีย์กล่าวว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับการผลิตข้าวและอาหารในพม่าก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง

"ปีนี้ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียพากันห้ามส่งออกข้าวหรือลดปริมาณส่งออกลง แต่พม่าเริ่มส่งออกไปให้ศรีลังกา.. ดังนั้นสภาพที่น่าเป็นห่วงในระยะยาวก็คือ พม่าจะมีข้าวพอบริโภคในประเทศหรือไม่ หรือจะสามารถส่งออกตามที่ให้คำมั่นกับประเทศต่างๆ ได้หรือไม่" นายริสลีย์กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
<CENTER><FONT color=#660099> ภาพถ่ายวันที่ 6 พ.ค.2551 โดยนักบินเครื่องบินทหาร C-130 กองทัพอากาศไทย ที่นำความช่วยเหลือไปยังพม่า แสดงให้เห็นบ้านเรือนราษฎรรวมทั้งนาข้าวที่อยู่รายรอบถูกน้ำท่วม เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้กับสนามบินย่างกุ้ง  (ภาพ: AFP).  </FONT></CENTER>
ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับการส่งออกข้าวของพม่า ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้างซึ่งจะรู้สึกได้ในทั่วเอเชียที่มีคนยากจนนับล้านๆ ต้องซื้อข้าวราคาแพงบริโภคในปัจจุบัน

พายุนาร์กิสกำลังข่มขู่ต่อปริมาณสำรองอาหารในพม่า เนื่องจาก WFP เองปกติก็ซื้อข้าวจากเขตอิรวดีที่ถูกพายุทำลายล้าง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนชาวพม่าที่หิวโหยในเขตปกครอง 5 เขตทางตอนเหนือของประเทศ

"เป็นที่ชัดเจนว่าเราเองคงจะต้องเปลี่ยนแผน ถ้าหากจำเป็นอันเนื่องมาจากความมั่นคงด้านอาหาร.. ซึ่งในปัจจุบันราษฎรในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีก็กำลังต้องการอาหารด้วยเหมือนกัน" นายริสลีย์กล่าว

นับเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติแห่งนี้ต้องนำอาหารเข้าแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในเขตอู่ข้าวอู่น้ำพม่า

สำนักข่าวของทางการรายงานว่าที่เมืองเบ๊าะกาเลย์ (Bokalay) เพียงแห่งเดียวมีผู้เสียชีวิตถึง 10,000 คน ที่นั่นอยู่ในกลางของเขตอิรวดี ซึ่งถูกไซโคลนนาร์กิสทำลายหนักหน่วงที่สุด

นายริสลีย์กล่าวอีกว่าตอนนี้ WFP กำลังนำข้าวปริมาณ 900 ตันจากโกดังเก็บแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง ขึ้นรถบรรทุกไปยังเขตภัยพิบัติ

ตามข้อมูลของสื่อทางการที่ "ผู้จัดการรายวัน" เคยรายงานเมื่อต้นปี ปี 2551 นี้พม่ามีข้าวเหลือส่งออกประมาณ 400,000 ตัน ขณะที่ WFP คาดการณ์ว่าปริมาณอาจจะสูงถึง 500,000 ตัน

บังกลาเทศกับศรีลังกาเป็นลูกค้า 2 รายแรกของข้าวพม่าในปีนี้ ฝ่ายแรกสั่งซื้อ 60,000 ตันตั้งแต่ต้นปี ส่วนศรีลังกาเพิ่งสั่งซื้อในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และ มีการส่งมอบล๊อตแรกไปแล้ว สื่อในศรีลังการายงานเมื่อวันอังคารนี้ว่า ทางการพม่ายังจะส่งมอบข้าวให้ต่อไปจนครบปริมาณที่สั่งซื้อ

บังกลาเทศไม่สามารถผลิตข้าวพอบริโภคเนื่องจากเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว นาข้าวที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวถูกไซโคลนจากทะเลเบงกอล พัดเข้าทำลาย ทำให้ราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียงข้ามปี ทั้งนี้เป็นรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

ตามรายงานของสื่อทางการปีนี้เป็นปีที่พม่าขยายระบบชลประทานออกไปอย่างกว้างขวางในเขตอิรวดี เขตย่างกุ้งกับเขตพะโค ซึ่งเป็นเขตผลิตข้าวใหญ่ทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเก่า แต่ทั้งหมดได้กลายเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ที่ถูกไซโคลนนาร์กิสทำลายล้าง

วันพุธสัปดาห์ที่แล้ว (30 เม.ย.) ราคาข้าวสารพันธุ์ปทุมธานีของไทยพุ่งขึ้นแตะ 998 ดอลลาร์ต่อตัน จากเพียง 512 ดอลลาร์ต่อตันในเดือน ม.ค.ปีนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างผลการสำรวจของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

มีหลายสาเหตุที่ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น ความต้องการข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียที่นาไปใช้ในการปลูกพืชเพื่อผลิตดีเซลชีวภาพ และ จากการเก็งกำไรราคาข้าว

เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศไทยได้ประกาศลดเป้าหมายส่งออกข้าวลงเหลือ 3.5 ล้านตัน จาก 4.5 ล้านตัน และ ได้สั่งหยุดการส่งออกไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ศกนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชากรกว่า 85 ล้านคน

อินเดียซึ่งมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ได้ห้ามการส่งออกด้วยจุดประสงค์เดียวกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น