xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวงเสียพระทัยพายุพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชสาสน์แสดงความเสียพระราชหฤทัยแก่สหภาพพม่า หลังจากพายุไซโคลนนาร์กิสพัดกระหน่ำ ซึ่งสื่อของทางการรายงานในตอนค่ำวันอังคารว่าพบศพผู้เสียชีวิตแล้ว 22,000 คนกับอีกราว 41,000 คนยังสูญหายไปในภัยพิบัติในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

"ข้าพเจ้า และสมเด็จพระราชินี รู้สึกเศร้าสลดยิ่งนักที่ได้ทราบข่าวพายุไซโคลนนาร์กีสในประเทศของท่าน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ข้าพเจ้า และสมเด็จพระราชินี ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังท่านและประชาชนชาวพม่า ตลอดจนครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการสูญเสียอันน่าเศร้าและใหญ่หลวงครั้งนี้"

ข้างต้นคือ เนื้อความพระราชสาสน์แห่งองค์พระประมุขของไทยที่มีถึง พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ผู้นำสูงสุดพม่า

สถานีโทรทัศน์พม่ารายงานตัวเลขเพิ่มเติมในวันเดียวกัน ขณะเจ้าหน้าที่กู้ภัยและเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศกำลังพยายามเข้าให้ถึงเขตภัยพิบัติเป็นวันที่ 2 และยังเป็นวันที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกทยอยส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ประชาชนพม่า ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย

เครื่องบินกองทัพอากาศไทยได้บรรทุกอาหาร เวชภัณฑ์ สิ่งของเครื่องใช้ที่ทำเป็นในยามฉุกเฉินหลายรายการไปมอบให้แก่ทางการพม่าที่ท่าอากาศยานกรุงย่างกุ้งเมื่อวันอังคาร พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือเป็นเงินอีก 100,000 ดอลลาร์

หลายฝ่ายเชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มขึ้นสูงมากกว่านี้ถึงเท่าตัว เนื่องจากพายุได้พัดเข้าสู่ใจกลางของเขตที่มีประชากรอยู่อาศัยราว 24 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรพม่าทั่วทั้งประเทศ 47.8 ล้านคน ขณะที่การค้นหากำลังดำเนินต่อไป

เจ้าหน้าที่ของเวิลด์วิชั่นกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือในพื้นที่มองจากเฮลิคอปเตอร์ลงไปยังเบื้องล่างในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ได้เห็นศพผู้เสียชีวิตมากมายและชัดเจน รวมทั้งความเสียหายที่กินอาณาบริเวณกว้าง

นอกจากนั้นภาพถ่ายจากเครื่องบินที่สำนักข่าวเอเอฟพีกับรอยเตอร์นำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคารได้แสดงให้เห็นหมู่บ้านในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีถูกทำลายเสียหายอย่างหนักบางแห่งถูกพายุพัดทำลายอย่างย้อยยับทั้งหมู่บ้าน นาข้าวจมอยู่ใต้ผืนน้ำ เช่นเดียวกันกับผืนนารอบๆ กรุงย่างกุ้ง

ภัยพิบัติครั้งนี้ได้ทำให้เจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Programme) วิตกว่า กำลังจะเปลี่ยนพม่าจากประเทศส่งออกข้าวเป็นประเทศนำเข้าข้าว ซึ่งจะซ้ำเติมวิกฤตอาหารในเอเชียและทั่วโลก (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ในหน้าข่าวอินโดจีน)

เจ้าหน้าที่องค์การกู้ภัยเวิลด์วิชั่น (World Vision) กล่าวกับเอเอฟพีว่า ภัยบิพิบัติครั้งนี้อาจจะรุนแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์คลื่น สึนามิ ที่เคลื่อนข้ามมหาสมุทรอินเดียเข้าตีชายฝั่งรอบๆตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงอินเดียศรีลังกา หมู่เกาะมัลดีฟ จนถึงชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในเดือน ธ.ค.2547 หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 9.1 บนมาตราริคเตอร์ ในเขตใต้ทะเลใกล้กับเกาะชะวา อินโดนีเซีย

ไซโคลนนาร์กิสพัดจากทะเลเบงกอลด้วยความเร็วลมศูนย์กลาง 120-190 กม./ชม. เข้าทำลายเกาะแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากชายฝั่งพม่า 100 กิโลเมตรเศษเสียหายย่อยยับ สื่อของทางการกล่าวว่าที่นั่นมีบ้านเรือนราษฎรถูกทำลายเสียหายไปราว 20,000 คา นั่นคือเหตุการณ์ในเวลาเย็นวันศุกร์ (2 พ.ค.)

ภาพถ่ายโดยดาวเทียม TERRA ขององค์การนาซ่า สหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารได้แสดงให้เห็นศูนย์กลางของพายุขนาดใหญ่มาก กับแนวการเคลื่อนตัวเข้าสู่เขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ตรงเข้าสู่กรุงย่างกุ้งเมืองหลวงเก่าของพม่าที่อยู่ห่างจากชายฝั่งราว 220 กม.

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกล่าวว่าที่เมืองเบ๊าะกาเลย์ (Bokalay) ในเขตอิรวดีเพียงแห่งเดียวมีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน และยังไม่มีรายงานจากเมืองพะสิม (Pathein) เมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งในเขตปากแม่น้ำสายหลักของประเทศ

รัฐมนตรีกระทรวงบรรเทาภัยและการตั้งถิ่นฐานพม่า นายหม่องหม่องส่วย (Maung Maung Swe) แถลงในกรุงย่างกุ้งว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตจากพายุ หากแต่ล้มตายลงเนื่องจากคลื่นจากทะเลที่พายุหอบพัดเข้าสู่ฝั่ง

"คลื่นสูง 12 ฟุตได้พัดกระหน่ำและกวาดบ้านเรือนหรือทำให้เกิดน้ำท่วมสูงครึ่งหลังในเขตที่อยู่ต่ำ พวกเขาไม่มีทางที่จะหนีไปไหน" รัฐมนตรีพม่ากล่าว

โฆษกคนหนึ่งของ WPF กล่าวว่าอาจจะมีราษฎรถึง 1 ล้านคน ไม่มีที่อยู่อาศัยในขณะนี้เนื่องจากบ้านเรือนถูกพายุพัดทำลาย

ทางการได้ประกาศให้เขตอิรวดี กรุงย่างกุ้งกับเขตปกครองอื่นๆ อีก 3 เขตคือ พะโค (Bago) หรือ หงสาวดี ไปจนถึงรัฐมอญและรัฐกะเหรี่ยง ติดเขตแดนไทยให้เป็นเขตภัยพิบัติ แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายจากเขตอื่นๆ ที่กล่าวมานี้

พาเมลา ซิตโค (Pamela Sitko) เจ้าหน้าที่องค์การเวิลด์วิชั่น (World Vision) ซึ่งเป็นองค์การกู้ภัยช่วยเหลือคริสเตียนในกรุงเทพฯ ได้อ้างคำให้การของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพม่าว่า "มีอย่างน้อย 8 ตัวเมืองของกรุงย่างกุ้งถูกทำลายย่อยยับหรือถูกทำลายเกือบหมด"

เจ้าหน้าที่หน่วยงานเดียวกันนี้กล่าวว่า พวกเขามองเห็นผู้คนที่กำลังอยู่อย่างสิ้นหวัง คนจำนวนมากไม่มีที่อาศัยยังแดดจ้าและลมร้อน และสภาพเช่นนี้อาจจะเกิดโรคระบาดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เส้นทางคมนาคมที่ถูกตัดขาด และระบบการติดต่อสื่อสารที่ถูกทำลายทำให้ยากต่อการเข้าถึงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงยากที่จะประเมินความเสียหายได้อย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่หน่วยงานระหว่างประเทศกล่าว

ในกรุงย่างกุ้งผู้คนจำนวนมากได้เข้าไปหลบอาศัยในวัด หลายอาณาบริเวณของกรุงเก่าไม่มีน้ำสะอาด และอาหารเริ่มขาดแคลน ราคาข้าวสารตามร้านค้าที่พอจะมีอยู่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัว

คืนวันอังคารที่ผ่านมาเป็นคืนที่ 4 ที่ชาวย่างกุ้งจะต้องหลับนอนอยู่ในความมืด เนื่องจากไซโคลนได้ตัดขาดระบบสายส่งไฟฟ้ากินอาณาบริเวณกว้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ในการฟื้นฟูให้กลับไปใช้การได้อีกครั้งหนึ่ง

ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนพม่าเป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์ โดยผ่านหน่วยงานของสหประชาชาติ หรือ องค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ไม่สังกัดรัฐบาล

นางลอร่า บุช (Laura Bush) สตรีหมายเลขสหรัฐฯ ได้ออกเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเปิดรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และประชาคมระหว่างประเทศ พร้อมกับกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่ได้กระทำอย่างเพียงพอในการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนได้ป้องกันภัยพิบัติ ทั้งๆ ที่ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับภัยอันตรายจากไซโคลนลูกนี้

รายงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดียเมื่อวันอังคารนี้เปิดเผยว่า ทางการอินเดียได้แจ้งเตือนทางการพม่าเกี่ยวกับพายุลูกนี้ล่วงหน้าถึง 2 สัปดาห์

สำหรับพม่าจะมีไซโคลนหลายลูกพัดกระหน่ำในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ย. เป็นประจำทุกปี แต่นาร์กิสเป็นลูกแรกในปีนี้และเป็นลูกที่มีความรุนแรงที่สุด สร้างความเสียหายมากที่สุดในรอบหลายสิบปี

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างสื่อทางการพม่าที่ระบุว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินต่อไปตามกำหนดในพื้นที่ต่างๆ นอกเขตภัยพิบัติ ส่วนพื้นที่ที่ถูกพายุพัดกระหน่ำนั่นทางการจะจัดให้มีการลงประชามติในภายหลัง

แนวร่วมสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันอังคารระบุว่า แผนการจัดลงประชามติในภายหลังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะยอมรับได้โดยสิ้นเชิง

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวในวันเดียวกันระบุว่า แผนการลบงประชามติของทางการพม่าเป็นเพียงกลอุบายที่จะทำให้คณะปกครองทหารได้มีอำนาจอยู่ต่อไป หลังบริหารประเทศนี้มานานเกือบครึ่งศตวรรษ

ในวันเดียวกันผู้นำประเทศต่างๆ ได้ทยอยส่งสาสน์แสดงความเสียใจไปยังรับบาลและประชาชนพม่า

ความช่วยเหลือหลั่งไหล

ในวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ส่งความช่วยเหลือชุดแรกถึงกรุงย่างกุ้ง และกำลังเตรียมยาและเวชภัณฑ์น้ำหนัก 30 ตัน อาหารอีก 12 ตัน ส่งไปช่วยผู้ประสบเคราะห์กรรมจากพายุในพม่าอีกรอบหนึ่งในวันพุธ (7 พ.ค.) นี้

ขณะที่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกรวมทั้งประชาคมระหว่าสงประเทศส่งความช่วยเหลือไปยังพม่า ขณะที่สิงคโปร์ประกาศจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่พม่าเป็นมูลค่า 200,000 ดอลลาร์

วันอังคารที่ผ่านมาความช่วยเหลือจากรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศทั่วโลก ที่รวบรวมโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คิดเป็นเงินประมาณ 10 ล้านดอลลาร์

เจ้าหน้าด้านประเมินภัยพิบัติและสถานการณ์แห่งสหประชาชาติจำนวน 5 คนได้ประชุมกันในกรุงเทพฯ องค์การกองทุนเด็กระหว่างประเทศหรือ UNICEF หรือได้ส่งทีมความช่วยเหลือเข้าไปใน 3 พื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ
.
องค์การกาชาดสากลและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศให้เงินช่วยเหลือประมาณ 189,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังส่งคณะทำงานเข้าไปแจกจ่ายน้ำดื่ม เสื้อผ้า อาหาร รวมทั้งแผ่นผ้าพลาสติก กับ ชุดปฐมพยาบาลด้วย

เจ้าหน้าที่กาชาดในพม่าได้ฉีดพ่นยาในการกำจัดยุงเพื่อป้องการการเกิดโรคมาลาเรีย รวมทั้งแจกจ่ายสารส้มเพื่อกวนน้ำให้สะอาด

กาชาดสหรัฐฯ ประกาศบริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์และเสบียงต่างๆ ช่วยเหลือประชาชนพม่า

องค์การเวิลด์วิชั่นในออสเตรเลียให้เงินช่วยเหลือประมาณ 2.8 ล้านดอลลาร์ในเดือนแรก รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ สุขภาพ และสุขอนามัยประมาณ 25 คน เข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในพม่ากว่า 600 คน

ส่วนจีนโดย กระทรวงการค้ากล่าวว่า รัฐบาลจีนจะให้เงินสดแก่พม่าเป็นจำนวนถึง 500,000 ดอลลาร์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ เช่น เต็นท์ ผ้าห่ม ขนมปังกรอบ (Biscuit) รวมมูลค่าอีกกว่า 500,000 ดอลลาร์

ในวันเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย กล่าวว่า ได้ส่งเรือรบซึ่งบรรทุกอาหาร เต็นท์ ผ้าห่ม เสื้อผ้ารวมทั้งยารักษาโรคไปยังกรุงย่างกุ้งเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัย

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงว่ารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นเร่งด่วนในรูปของเต็นท์ เครื่องปั่นไฟและเสบียงอื่นๆ เป็นมูลค่ากว่า 28 ล้านเยน หรือประมาณ 267,570 ดอลลาร์

ในวันเดียวกันคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้มีมติเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรัฐบาลทหารพม่า ได้ประกาศให้เงิน 2 ล้านยูโร หรือประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

แคนาดาประกาศให้เงินสนับสนุนองค์กรความช่วยเหลือต่างๆ เช่น สหประชาชาติ กาชาดสากล รวมทั้งโครงการความช่วยเหลือทางด้านอาหารเป็นเงิน 1.98 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลเยอรมนีจะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 500,000 ยูโร หรือประมาณ 775,000 ดอลลาร์แก่องค์กรความช่วยเหลือของประเทศนี้ในการจัดหาที่พัก น้ำดื่ม อุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นภายในบ้าน รวมทั้งมุ้ง ให้แก่ผู้ประสบภัยดังกล่าว

รัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งกลุ่มแดวูกำลังนำหน้าในการเจาะก๊าซและน้ำมันดิบในพม่าก็ประกาศให้ความช่วยเอเป็นเงินจำนวนมากเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น