xs
xsm
sm
md
lg

ศพเกลื่อนทุ่ง เริ่มช่วยเหลือเหยื่อ "นาร์กิส"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศรวมทั้งสหประชาชาติเพิ่งจะเริ่มงานได้ในวันพุธ (7 พ.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากทางการพม่าอนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติการช่วยเหลือและกู้ภัยผู้ประสบภัยพิบัติจากไซโคลนนาร์กิสได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่พายุผ่านไป 4 วันก่อน ทิ้งผู้เสียชีวิตและสูญหายเอาไว้ข้างหลังเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งแสน

สถานีโทรทัศน์ของทางการรายงานในข่าวภาคค่ำวันเดียวกัน ไม่มีการปรับตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 22,464 คน ที่รายงานเมื่อวันอังคาร และจำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังคงไว้ที่ 41,054 คนเท่าเดิมในเหตุ-การณ์ที่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่าว่าเป็นวาตะภัยครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ไซโคลนจากทะเลเบงกอลอีกลูกหนึ่งพัดกระหน่ำบังกลาเทศในปี 2534 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 143,000 คน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยระหว่างประเทศกำลังจะเข้าช่วยเหลือชาวพม่าไร้ที่อาศัย "นับล้านๆ คน" อันเป็นตัวเลขประเมินของเจ้าหน้าที่องค์การ Save the Children ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนไม่สังกัดรัฐบาลเพียง 1 ใน 3 แห่งที่รัฐบาลทหารพม่าอนุญาตให้ปฏิบัติงานประจำอยู่ในประเทศได้

ทางการพม่าได้ลังเลอยู่หลายวันที่จะให้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยสหประชาชาติเดินทางเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือ และ เจ้าหน้าที่กล่าวว่าอาจจะต้องรอไปจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ก่อนที่จะสามารถเดินทางไปยังกรุงย่างกุ้งได้

เมื่อวันอังคารทางการทหารพม่าได้ปฏิเสธข้อเสนอช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พร้อมจะส่งเรือรบกับนาวิกโยธินและอุปกรณ์อันพร้อมเพรียง เข้าไปปฏิบัติการกู้ภัยช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ที่ทางการพม่าประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ

ในช่วง 2-3 วันก่อนหน้านี้โลกภายนอกได้เห็นเพียงภาพถ่ายที่เล็ดลอดออกมาจากแหล่งที่ไม่เปิดเผย ซึ่งแสดงให้เห็นบ้านเรือนราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในหมู่บ้านเล็ก จนถึงตัวเมืองในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีที่ถูกพายุทำลายล้าง ในเมื่อวันพุธจึงได้เห็นผลพวงต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น

ได้เห็นศพเป็นครั้งแรก

ก่อนหน้านั้นโลกภายนอกได้เห็นสภาพท้องถนนในกรุงย่างกุ้งที่เต็มไปด้วยต้นไม้และซากปรักหักพังของแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ริมถนน ภาพบ้านเรือราษฎรหลังคาโหว่ และจานดาวเทียมบนหลังคาบ้านที่ถูกพายุพัดฉีกออกเป็นชิ้นๆ

ในวันพุธที่ผ่านมาสำนักข่าวเอเอฟพีได้นำภาพศพเหยื่อไซโคลนนาร์กีส ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงให้โลกภายนอกได้เห็นเป็นครั้งแรก

ภาพถ่ายประมาณ 10 ภาพที่ไม่ได้ระบุว่าถ่ายในวันใดและไม่ได้แจ้งแหล่งที่มา แสดงให้เห็นศพผู้เสียชีวิตอยู่ตามจุดต่างๆ ในท้องทุ่งที่มีน้ำท่วมขังในเขตรอบๆ เมืองลาบุตตา (Labutta) ที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำอิรวดี

ตามรายงานของเอเอฟพีผู้รอดชีวิตจากวาตะภัยได้ออกปรากฏตัวครั้งแรก ผู้คนเหล่านั้นจำนวน "นับพันๆ" ได้ออกเดินทางลุยน้ำผ่านศพคนตายที่ลอยขึ้นอืดจำนวนมากมาย และส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว เพื่อไปหาอาหารประทังความหิวโหยในเขตเมือง

ภาพที่เอเอฟพีนำออกเผยแพร่ยังแสดงให้เห็นศพคนปะปนกับซากของสัตว์เลี้ยง เช่น หมู ควาย ที่ขึ้นอืดและเริ่มเน่าเฟะ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งลอยติดค้างอยู่ตามทางเดินหลังจากน้ำได้เริ่มลดระดับลง

นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ (Richard Horsey) แห่งสำนักงานประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมองค์การสหประชาชาติในกรุงเทพฯ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์เชื่อว่าจะพบเหยื่อของไซโคลนจะเพิ่งมากขึ้น

นายฮอร์ซีย์กล่าวว่าในขณะที่ศพกำลังลอยฟ่องตามน้ำและมีสภาพเน่าเฟะ ใครๆ ก็คงจะสามารถจินตนาการได้ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังจะเผชิญกับสภาพการณ์อย่างไรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

การช่วยเหลือเพิ่งจะเริ่ม

รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างแสดงความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปช่วยผู้ประสบเคราะห์ในพม่า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำทหารหมดความหวาดระแวงสงสัยต่อการปฏิบัติการกู้ภัยในระดับนานาชาติ

ทางการพม่าได้ปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน จนกระทั่งรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสนายแบร์นาร์ด คูชเนอร์ (Bernard Kouchner) ให้สัมภาษณ์ว่า สหประชาชาติควรจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงในนครนิวยอร์ก เพื่อบีบบังคับให้บรรดาผู้นำพม่าต้องยอมรับการช่วยเหลือ

ยังไม่มีฝ่ายใดทราบว่าความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีฝรั่งเศสจะเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่ แต่ตอนบ่ายวันพุธที่ผ่านมา คณะปกครองทหารในเมืองเนย์ปีดอก็เปลี่ยนใจ อนุญาตให้ทีมเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเดินทางเข้าประเทศได้

อย่างไรก็ตามนางอลิซาเบ็ธ บีร์ส (Elisabeth Byrs) โฆษกสำนักงานประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของยูเอ็นกล่าวว่า เป็นการอนุญาตเท่านั้น ผู้ปฏิบัติงานจะต้องรอวีซ่าอีกทีเพื่อเดินทางเข้าพม่า รวมทั้งทีมสำรวจจำนวน 5 คนที่กำลังรออยู่ในกรุงเทพฯ

ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลพม่าจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทีมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยูเอ็นเดินทางเข้าประเทศได้กี่คน แต่นางบีร์สกล่าวว่าความช่วยเหลือชุดแรกจะถูกส่งไปจากโกดังเก็บในประเทศอิตาลี ประกอบด้วยสารช่วยทำน้ำสะอาด ผ้าห่ม ชุดทำครัว ผ้าพลาสติก จนถึงเครื่องปั่นไป เพื่อไปช่วยเหลือประชาชนในเขตภัยพิบัติ

ในวันพุธทางการทหารพม่าได้ส่งอาหารและน้ำดื่มไปทางเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านที่ถูกพายุพัดทำลายจนราบคาบ ผู้คนนับร้อยๆ ไร้ที่อาศัย

ไซโคลนนาร์กิสก่อตัวขึ้นในย่านกลางกลางทะเลเบงกอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งพม่าในวันศุกร์ (2 พ.ค.) ด้วยความเร็วลมที่ศูนย์กลาง 120-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดกระหน่ำเขตที่ราบปากแม่น้ำสายหลักอันเป็นอู้ข้าวอู่น้ำใหญ่ของประเทศ ก่อนจะพัดเลยไปถึงกรุงย่างกุ้งที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเข้าไปราว 220 กิโลเมตร และ ถึงเขตแดนติดประเทศไทย เขตอิรวดีจึงได้รับความเสียหายมากที่สุด และพบผู้เสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อทางการ

ชาวย่างกุ้งยังลำบาก

พายุได้พัดเข้าถึงกรุงย่างกุ้งในเวลาเช้าตรู่วันเสาร์ ทำให้ต้นไม้หักโค่นกิ่งไม้ใหญ่หักลงกีดขวางถนนสายต่างๆ ทั่วกรุงเก่า ไฟฟ้ากับการสื่อสารโทรคมนาคมถูกตัดขาดมาตั้งแต่นั้น และ เจ้าหน้าที่กู้ภัยขององค์การ World Vision รายงานว่ามี 8 ตัวเมืองของกรุงย่างกุ้ง "ถูกทำลายราบ" หรือ "ถูกทำลายเกือบทั้งหมด"

เมื่อวันพุธชาวย่างกุ้งจำนวนมากยังคงไปเข้าคิวรอน้ำดื่มที่ทางการเริ่มนำออกแจกจ่าย ความช่วยเหลือจากประเทศไทยและอินเดียไปถึงครั้งแรกเมื่อวันอังคาร แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ

อาหารราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัวจนกระทั่งผู้คนทั่วไปไม่สามารถซื้อได้ เช่นเดียวกันกับสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ขณะที่สินค้าหลายรายการขายจนหมดเกลี้ยง รวมทั้งเทียนไขและถ่านไฟฉาย

เจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลก (World Food Programme) แห่งสหประชาชาติ ได้เริ่มนำข้าวสารออกแจกจ่ายสู่ประชาชนในกรุงเก่าแล้วเมื่อวันพุธ และมีแผนที่จะส่งไปยังราษฎรที่ประสบเคราะห์ในเขตอิรวดีด้วย

ความช่วยเหลือจากภายนอก

รัฐบาลพม่ากำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอีกครั้ง ต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอย่างล่าช้า นอกจากจะไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอในการเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือ ทั้งๆ ที่ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาถึง 2 สัปดาห์ก่อนพายุนาร์กีสจะเคลื่อนตัวเข้าพัดทำลาย นอกจากนั้นยังได้พยายามปิดกั้นการช่วยเหลือจากภายนอกอีกด้วย

แต่ความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ก็ยังคงมุ่งหน้าไปสู่ประชาชนในพม่า วันอังคารที่ผ่านมาประเทศและองค์การต่างๆ ทั่วโลกได้เสนอช่วยพม่าเป็นเงินสดกว่า 10 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับรวมสิ่งของเช่นวัสดุก่อสร้าง วัสดุสิ่งของเครื่องใช้และอาหารซึ่งรวมมูลค่ามหาศาล

เมื่อวันอังคารประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ได้เสนอความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ทางการพม่าเป็นเงิน 3 ล้านดอลลาร์โดยจะส่งผ่านสถานทูตในกรุงย่างกุ้ง และยังเสนอส่งเรือรบกับนาวิกโยธินเข้าไปช่วยราษฎรในเขตประสบภัยพิบัติอีกด้วย แต่อย่างหลังนี้ได้รับการปฏิเสธหลายประเทศและดินแดนจากไต้หวัน ไปจนถึงรัสเซียและสโลวะเกีย ต่างเสนอช่วยเหลือให้แก่พม่าในการกอบกู้ภัยพิบัติ

ประเทศสโลวะเกียประกาศจะส่งเงิน 95,000 ดอลลาร์ไปช่วย ส่วนทางการไต้หวันให้คำมั่นจะส่งไปไปช่วยจำนวน 200,000 ดอลลาร์ พร้อมทั้งส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปร่วมงานกับทางการพม่าในการกู้ภัยอีกด้วย แม้ว่าพม่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนปักกิ่งก็ตาม

ในวันเดียวกันรัฐบาลสเปนก็ได้ประกาศจะส่งเครื่องบินบรรทุกความช่วยเหลือเป็นยารักษาโรค เต็นท์ น้ำดื่มและสิ่งของเคร่าองใช้ยามฉุกเฉินน้ำหนักรวม 13 ตันไปยังกรุงย่างกุ้ง

กระทรวงการต่างประเทศสเปน กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งว่าเครื่องบินบรรทุกความช่วยเหลือดังกล่าวพร้อมจะบินไปยังประเทศไทยในทันทีที่พม่าพร้อมที่จะรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น