ผู้จัดการออนไลน์ -- รัฐบาลพม่ายังคงยืนยันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 พ.ค.) ว่าสามารถจัดการบรรเทาภัยพิบัติจากเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มได้ แม้จะมีเสียงเตือนจากประชาคมระหว่างประเทศ ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มมากขึ้น หากพม่ายังไม่ยอมเปิดประเทศรับทีมช่วยเหลือจากนานาชาติให้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยกว่า 2 ล้านคนในพื้นที่
“ชาวพม่ายอมรับความช่วยเหลือในทุกรูปแบบจากต่างประเทศด้วยความซาบซึ้ง ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม” บรรณาธิการคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กล่าว
“อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะไม่รอพึ่งความช่วยเหลือจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่เราจะสร้างรากฐานของการพึ่งพากันเองในชาติขึ้นมาใหม่”
หลังจากที่พายุนาร์กีสได้พัดถล่มที่ราบปากแม่น้ำ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงให้ของประเทศในวันที่ 2 และ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายกว่า 66,000 ราย คณะปกครองทหารพม่าได้เปิดรับสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์แต่ยังคงปฏิเสธผู้เชี่ยวชาญหรือทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศ
องค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศ กล่าวว่า พวกเขาพยายามที่จะส่งอาหารที่จำเป็น รวมถึงที่พักเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ซึ่งทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่รัฐบาลทหารกลับปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าวแม้จะมีเสียงกดดันจากประชาคมโลกก็ตาม
“การดำเนินการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่รอดให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้นั้นประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและมีประสิทธิภาพ” บรรณาธิการคนเดียวกัน กล่าว
“เราเชื่อว่า ประเทศชาติของเราจะสามารถเอาชนะความท้าทายเกี่ยวกับภัยธรรมชาติในทุกรูปแบบได้”
นายลูยส์ มิเชิล (Louis Michel) ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธ (14 พ.ค.) ที่ผ่านมา ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มมากขึ้นหากทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าไปช่วยเหลือเหยื่อพายุในพื้นที่ต่างๆ
ขณะที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ยังคงเตือนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของประชาชนอีกระลอกหนึ่งเนื่องจากต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด และความหิวโหยหากพม่ายังไม่ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน
คณะปกครองทหารพม่า ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 1962 ยังคงปฏิเสธความช่วยเหลือจากภายนอก รวมทั้งทีมช่วยเหลือบางส่วนที่ได้รับอนุญาติให้เข้าประเทศก็ถูกจำกัดความเคลื่อนไหวภายใต้กฏเกณฑ์และข้อบังคับที่เข้มงวด
นายมิเชล ได้เดินทางไปยังพม่าเมื่อวันพุธ เพื่อพยายามที่จะผลักดันให้รัฐบาลทหารยอมอนุญาติให้ทีมช่วยเหลือจากต่างชาติเข้าประเทศ
ในการเดินทางไปยังพม่าของนายกรัฐมนตรีของไทย นายสมัคร สุนทรเวช โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันนี้กลับจบลงด้วยการที่นายพลระดับผู้นำของพม่า กล่าวว่า พวกเขา (พม่า) สามารถจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เพียงลำพัง